ปี’62 อ.ต.ก. เล็งขึ้นค่าเช่าแผง หลังการรถไฟขึ้นค่าเช่า 129%

อ.ต.ก.เล็งขึ้นค่าเช่าแผงหลังการรถไฟขึ้นค่าเช่ารายได้129%-พร้อมปรับแผนธุรกิจ ตั้งเป้า3ปีสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรกว่า2หมื่นล้านบาท

นายกมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เปิดเผยว่า ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปรับเพิ่มค่าเช่าที่ของตลาด อ.ต.ก. ขึ้นเป็น 109 ล้านบาท/ปี เพิ่มขึ้น 129% จากเดิมเคยจ่ายประมาณ 50 ล้านบาท/ปี ส่งผลให้อ.ต.ก. เตรียมพิจารณาปรับค่าเช่าแผงในปี 2562 ใหม่ แต่จะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ต้องพิจารณาก่อน ปัจจุบันอ.ต.ก. เก็บค่าเช่าแผงในราคาต่ำสุด 75 บาท/วัน และสูงสุดค่าเช่าแผงอยู่ที่ 377 บาท/วัน

ดังนั้น ในเดือนต.ค.นี้ จะมีการประกาศความชัดเจนเรื่องของการหารายได้ตามแผน 3 ปี ระหว่างปี 2562-2564 อ.ต.ก. ตั้งใจจะสร้างมูลค่าสินค้าเกษตร ภายใต้เครือข่ายการส่งเสริมของอ.ต.ก. ให้ถึง 20,000 ล้านบาท โดยในปี 2561 ตั้งเป้าไว้ที่รายได้ 3,000 ล้านบาท ปี 2562 มูลค่าสินค้าเพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาท และปี 2563 มูลค่าสินค้าเพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท ตามลำดับ เมื่อถึงปี 2564 ทุกร้านค้าในอ.ต.ก. จะต้องรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางไม่น้อยกว่า 60% โดยราคารับซื้อสูงกว่าตลาด เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรโดยตรง และทำให้ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น

สำหรับ ปีนี้อ.ต.ก. ปรับสัดส่วนแผนการทำธุรกิจเป็นธุรกิจหลักสัดส่วน 60% และธุรกิจดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลสัดส่วน 40% จากเดิมแผนการทำธุรกิจเป็นธุรกิจหลักสัดส่วน 70% และดำเนินธุรกิจตามนโยบายรัฐบาลสัดส่วน 30% เพื่อลดการขาดทุนสะสม ให้สามารถมีกำไรได้ในปี 2562 โดยปี 2562 อ.ต.ก.จะประกาศให้เป็นปีที่อ.ต.ก.เริ่มมีกำไรอย่างยั่งยืนและถาวร และคาดว่าจะมีรายได้จากส่วนธุรกิจของอ.ต.ก. จำนวน 30-50 ล้านบาท

ส่วนผลประกอบการในปี 2559 อ.ต.ก. ขาดทุน 120 ล้านบาท และปี 2560 ขาดทุน 80 ล้านบาท ซึ่งการขาดทุนมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ ในปีนี้คาดว่าจะขาดทุนน้อยกว่า 60 ล้านบาท ขณะนี้กำลังให้ผู้เช่าแผงในตลาดอ.ต.ก. ทุกรายมาลงทะเบียนใหม่ เพื่อตรวจสอบประวัติ ว่าเป็นผู้เช่าตัวจริง หรือผู้เช่าช่วง เพราะตามระเบียบอ.ต.ก. ไม่ให้มีการปล่อยให้เช่าช่วง ซึ่งล่าสุดได้ยกเลิกสัญญาเช่าของผู้เช่า 1 ราย เนื่องจากนำแผงไปให้เช่าช่วง เมื่อขึ้นทะเบียนใหม่ในปีงบประมาณหน้า

อ.ต.ก. แบ่งพื้นที่เช่าตลาดออกเป็น 3 โซน ได้แก่ 1. ตลาดเกษตรอินทรีย์ ให้เกษตรกรขายฟรี โดยต้องมีหนังสือรับรองว่าเป็นเกษตรอินทรีย์จริง 2. ตลาดประจำเชิงพาณิชย์ จำนวน 600 แผง ทั้งหมด 11 โซน ซึ่งมีทั้งเกษตรกรและผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกร โดยปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรอยู่ 35 แผงค้า โดยอ.ต.ก. คิดค่าเช่า 50% ของค่าเช่า และ 3. ตลาดสินค้าเกษตรคุณภาพอ.ต.ก. ซึ่งให้เกษตรกรจากทั่วประเทศเข้ามาหมุนเวียนขาย โดยเกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอส่งจะต้องส่งรายชื่อมากับทางอ.ต.ก.

นายกมลวิศว์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อ.ต.ก. ลงนามความร่วมมือกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ค.ส.) ผลิตแบรนด์วัวไทย ส่งไปขายขายที่เมืองจีน โดยอ.ต.ก.เป็นผู้ทำตลาด และอ.ค.ส. ทำการผลิต และ ปัจจุบันอ.ต.ก. มีแบรนด์รังนกของตนเองที่รับรองเรื่องรังนกแท้ และเชื่อว่าเร็วๆ นี้ จะนำไปขายเมืองจีนได้

สำหรับข้าวล็อตสุดท้ายที่อยู่ในโกดังของอ.ต.ก. ซึ่งเป็นของโครงการรับจำนำข้าวปี 2551–2557 ประมาณ 100,000 กว่าตันกำลังจะขายหมด เท่าที่ตรวจสอบข้าวในโกดังอ.ต.ก. ไม่มีปัญหาเรื่องรับมอบ และปัญหาเรื่องข้าวหาย ตัวเลขข้าวที่หายไปอาจเกิดจาดความคลาดเคลื่อนของข้อมูลเท่านั้น ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบเพื่อยืนยันตัวเลขข้าวที่มีอยู่ในสต๊อกอีกครั้ง และปริมาณข้าวที่หายไปอาจเกิดจากการเสื่อมสภาพลงของข้าว ซึ่งคณะกรรมการนโยบายบริหารและจัดการข้าวทาง (นบข.) กำหนดค่าเสื่อมสภาพที่รับได้อยู่ที่ 1% ทำให้ตัวเลขคลาดเคลื่อนบ้าง