ฝ่าวิกฤต “ขยะอาหาร”

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ สถาบันอาหาร

ปัจจุบันโลกอยู่ในสภาวะที่มีขยะเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นอาหารเหลือทิ้ง และจากผลการทิ้งอาหารนี้เองทำให้ต้องเผชิญกับวิกฤตการสูญเสียอาหาร (food loss) ที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิต การเก็บเกี่ยว และการแปรรูปตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการในภาคการผลิตโดยตรง และเกิดขยะอาหาร (food waste) เป็นจำนวนมาก เป็นการสูญเสียอาหารในตอนปลายของห่วงโซ่อาหารในขั้นตอนการขายปลีกและการบริโภค ซึ่งเชื่อมโยงไปยังพฤติกรรมของผู้ขายปลีกและผู้บริโภค

โดย 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นทั่วโลกในแต่ละปี หรือประมาณ 1.3 พันล้านตัน จะกลายเป็นขยะอาหารและถูกปล่อยให้เน่าเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ ก่อให้เกิดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 3.3 พันล้านตันต่อปี อาหารเหล่านี้มีมูลค่ารวมกันกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2560 ไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 27.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีปริมาณ 27.06 ล้านตัน ซึ่งมีขยะอาหารมากกว่าร้อยละ 60

โดยข้อเท็จจริง การสูญเสียอาหาร (food loss) และขยะอาหาร (food waste) เกิดจากกระบวนการตามห่วงโซ่คุณค่าอาหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ และมีเงื่อนไขด้านมาตรฐานอาหารที่สูงเกินไป ทำให้ต้องมีการคัดเลือกและทิ้งส่วนที่ไม่ต้องการเป็นจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่จึงได้มีการนำหลักการ 3Rs คือ reduce ลดการใช้หรือใช้น้อยเท่าที่จำเป็น reuse การใช้ซ้ำ และ recycle แปรรูปมาใช้ใหม่ มาช่วย

เรื่องการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงการคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากขยะ เช่น ผลิตพลังงาน ทำปุ๋ยหมัก ทำเชื้อเพลิง ทำน้ำหมักชีวภาพ ทำก๊าซชีวภาพ และใช้เป็นอาหารสัตว์ เป็นต้น ทำให้มีขยะมูลฝอยที่ต้องกำจัดทิ้งให้น้อยที่สุด และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิต ช่วยประหยัดต้นทุน เพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชุมชน

อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่ต้องขยายการตระหนักรู้ไปในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนบางส่วนอาจมองว่าเป็นการเพิ่มภาระ เพิ่มขั้นตอนการทำงาน ซึ่งหากได้มีการรวมกลุ่มกันให้เข้มแข็ง และมีหน่วยงานรัฐเป็นพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด เผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกต้อง เชื่อว่าจะเกิดการบริหารจัดการขยะอาหารที่เป็นรูปธรรม ส่งผลดีในระยะยาวแน่นอน

เป็นเรื่องน่ายินดีครับ ที่มีข่าวคราวให้ทราบมาเป็นระยะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาว่า มีธุรกิจบริการค้าปลีกรายใหญ่ให้ความสำคัญ และแสดงจุดยืนเรื่องการลดปริมาณขยะอาหารอย่างเป็นระบบในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร เกิดการตลาดนำการผลิต พัฒนาบรรจุภัณฑ์และการขนส่งเพื่อป้องกันการสูญเสียระหว่างทาง ดูแลการจัดเก็บอาหารสดอย่างเหมาะสมเพื่อลดการสูญเสีย

ณ จุดขาย ลดราคาสินค้าที่ไม่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ สินค้าที่ไม่สามารถรับประทานได้แล้วจะถูกนำไปทำเป็นปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้น

ผมคิดว่า หากผู้ประกอบการรายอื่นจะทำบ้างก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเขินอายอะไร หรือรายที่ทำอยู่แล้วแต่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้รับทราบก็ต้องขอชื่นชมมา ณ ที่นี้ครับ เพราะผลลัพธ์ที่ได้ก็เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของเราทุกคน ทั้งยังเป็นประโยชน์กับธุรกิจของท่านในทุกมิติครับ