“เชฟรอน-ปตท.”ทุ่มสุดตัว ชิงแหล่งก๊าซบงกช-เอราวัณ

แฟ้มภาพ

“ปตท.สผ.-เชฟรอน” ชิงดำประมูลปิโตรเลียมแหล่งบงกช-เอราวัณ ชิมลางระบบใหม่ PSC แบ่งปันผลผลิต คาดรู้ผลแพ้-ชนะต้นปีหน้า ด้านเครือข่ายประชาชนต้านหนัก ทำหนังสือถึง “บิ๊กตู่” ค้านระบบ PSC อ้างรัฐได้รับผลประโยชน์น้อย ควรเปิดประมูลระบบรับจ้างผลิต SC จะดีกว่า กรมเชื้อเพลิงชี้รายได้จาก 2 แหล่งเข้ารัฐ มูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท พร้อมเปิดทางบริษัทตกขบวนร่วมแจมได้หลัง 1 ปี

การประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 พื้นที่ 4,501 ตารางกิโลเมตร กับ G2/61 พื้นที่ 3,247 ตารางกิโลเมตร หรือแหล่งบงกช-เอราวัณ เดิมที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565 ได้ดำเนินมาถึงขั้นตอนยื่นข้อเสนอการประมูลในวันที่ 25 กันยายน 2561 โดยการยื่นประมูลในครั้งนี้เป็นการยื่นประมูลภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) ตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

โดยผู้ยื่นข้อเสนอการประมูล ซึ่งผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นไปแล้วในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จะต้องยื่นเอกสารจำนวน 4 ซอง ประกอบไปด้วย ซองที่ 1 เป็นซองด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการปิโตรเลียมตามกฎหมาย, ซองที่ 2 การยอมรับเงื่อนไขให้ภาครัฐเข้าร่วมในสัดส่วน 25%, ซองที่ 3 ข้อเสนอทางเทคนิค ซึ่งประกอบด้วย แผนการลงทุน-แผนการพัฒนาแหล่ง-แผนช่วงรอยต่อ กับซองที่ 4 ซองด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ

เชฟรอน-ปตท.มาตามนัด

ล่าสุด ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการยื่นเอกสารจำนวน 4 ซอง ตามเงื่อนไขขั้นตอนการยื่นข้อเสนอการประมูลเข้ามา ปรากฏวันนี้ มีผู้ประกอบการเข้ามายื่นแค่ 4 ราย ใน 2 แหล่งผลิตได้แก่ แปลง G1/61 มีผู้ยื่น 2 ราย คือ 1) บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited ร่วมกับบริษัท MP G2 (Thailand) กับ 2) บริษัท Chevron Thailand Holdings ร่วมกับบริษัท Mitsui Oil Exploration Company Ltd. ส่วนแปลง G2/61 มีผู้ยื่น 2 รายเช่นกัน คือ 1) บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited กับ 2) บริษัท Chevron Thailand Holdings ร่วมกับ Mitsui Oil Exploration Company Ltd. โดยมีข้อสังเกตว่า บริษัท Taltal E&P Thailand, บริษัท MP L21 (Thailand) และบริษัทOMVAktiengesellschaft ซึ่งผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นในเดือนพฤษภาคม ไม่ได้มายื่นซองเข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้

2 เงื่อนไขหลักในระบบ PSC 

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการพิจารณาซองทั้ง 4 ซองที่ยื่นเข้ามาว่า จะพิจารณาพร้อมกัน หากเกณฑ์ทางเทคนิคไม่ผ่าน “เราจะไม่รับพิจารณาต่อ” เรื่องความสามารถในการผลิตก็สำคัญ โดยผู้ชนะจะต้องผลิตได้อย่างต่อเนื่อง “ไม่น้อยกว่า” ปริมาณก๊าซที่ผลิตอยู่เดิม เพราะต้องสร้างหลักประกันความมั่นคงที่สำคัญก็คือ แหล่งบงกช เป็นแหล่งสำคัญของประเทศ ผลิตได้ประมาณ 60-70% ของความต้องการใช้ก๊าซของประเทศไทย

ดังนั้น เพื่อเป็นหลักประกันการสร้างความมั่นคงของแหล่งพลังงานของประเทศ กระทรวงพลังงานจึงกำหนดเป็นเงื่อนไขสำคัญไว้ว่า 1) ผู้รับดำเนินการต่อต้องมีขีดความสามารถในการรับดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง สิ้นสุดสัญญา 23 เมษายน 2565 ในเที่ยงคืนวันที่ 24 เมษายน 2565 ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ชนะการประมูลต้องผลิตได้ต่อเนื่องทันที ในปริมาณไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน กับ 2) ราคาที่จะเสนอจะต้อง “ต่ำกว่า” ราคาที่ซื้อก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยในปัจจุบัน เพราะเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงหลักของการผลิตไฟฟ้าในประเทศ หากเราไม่สามารถจัดหาซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งที่เราผลิตเองในราคาที่ไม่แพงจากปัจจุบันก็จะไปกระทบกับราคาค่าไฟฟ้าที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 2.60 บาท/หน่วย

หากการเปิดประมูลในระบบ PSC ครั้งนี้ปรากฏ ผู้ชนะเป็นรายใหม่ที่ไม่ใช่เจ้าของสัมปทานเดิมในแหล่งบงกช-เอราวัณ ก็จะต้องมีขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านระหว่างผู้รับสัมปทานรายเดิมที่หมดอายุลง กับผู้ชนะการประมูลในระบบ PSC รายใหม่ จากแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเดิมนับรวมกันได้ 278 แท่น จะต้องทำอย่างไร เพราะการส่งผ่านมือในแต่ละแท่นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก ผู้ที่ชนะประมูลรายใหม่จะต้องไปดูในรายละเอียดว่า จะผลิตต่อหรือไปสร้างแท่นใหม่ ถ้าไม่ผลิตต่อต้องไปรื้อถอนแท่น กระบวนการตรงนี้จะมีการตัดสินใจร่วมกันระหว่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะผู้รับผิดชอบ กับผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามา “ในส่วนนี้เดิมเราวางขั้นตอนทางเทคนิคคัดเลือกแท่น หากผู้ชนะการประมูลเป็นรายใหม่ไว้ 5 ปี แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว เพราะเหลือเวลาอีก 3 ปี จึงต้องลดระยะเวลาลง แต่ยังต้องทำทุกขั้นตอนเหมือนเดิม” ดร.ศิริกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานคาดการณ์ไว้ว่า การพัฒนาปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่ง (G1/61 กับ G2/61) จะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งกำไร ประมาณ 800,000 ล้านบาท ตลอดจนก่อให้เกิดการจ้างงานคนไทยในสัดส่วน 80% ในปีแรก และอย่างน้อย 90% ในปีที่ 5 ตามเงื่อนไขหลักสำคัญที่ระบุไว้ใน TOR นอกจากนั้นยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซ LPG จากต่างประเทศได้ ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 460,000 ล้านบาท และยังก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท

กระแสคัดค้าน 

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่กำลังดำเนินการตามขั้นตอนยื่นข้อเสนอในการประมูลอยู่นั้น ทางเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศประมาณ 50 คน ก็ได้รวมตัวกันหน้ากระทรวงพลังงาน เพื่อคัดค้านการเปิดประมูลแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณ พร้อมออกแถลงการณ์จดหมายเปิดผนึกถึง นายกรัฐมนตรี พรรคการเมืองทุกพรรค องค์กรภาคเอกชนทุกองค์กร เจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งเอกชนผู้ร่วมประมูล โดยเชิญชวนตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ ภาคประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ร่วมมือแก้จัดการพลังงานปิโตรเลียมให้เป็นธรรมกับประชาชน โดยได้ขอให้รัฐบาลชะลอการจัดสรรปิโตรเลียมแหล่งบงกชและเอราวัณออกไปก่อน โดยให้ตั้งกรรมการร่วม 3 ฝ่าย ภาครัฐ ภาคประชาชน และคนกลางให้มีการแก้ไข TOR เพื่อปรับเงื่อนไขให้เป็นระบบจ้างผลิตก่อน โดยอ้างว่าหากใช้ระบบนี้ รัฐจะได้ส่วนแบ่งมากกว่าเอกชน แทนระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานที่เป็นธรรมให้เสร็จภายใน 3 เดือน

คู่แข่งน้อยราย

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ยอมรับวันนี้อาจมีผู้ยื่นข้อเสนอมีน้อยราย อย่างโททาลก็ถอนตัวไป ซึ่งอาจเป็นเพราะเงื่อนไขของเรามีไม่มากพอที่จะจูงใจให้เข้ามา ซึ่งหากสนใจภายหลังก็สามารถเข้ามาได้ แต่ต้องรอหลัง 1 ปี

ส่วนสิทธิ์เดิมหมดแล้วก็หมดไปเลย สำหรับข้อเสนอให้หน่วยงานรัฐเข้าร่วมได้นั้น เรายังไม่ทราบยังตอบไม่ได้ แต่ตามระบุไว้ถ้ารัฐหรือรัฐวิสาหกิจจะเข้าร่วมได้ก็ทำได้ ตามกำหนดไว้ 25% เรื่องนี้ต้องประเมินก่อน อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าภาครัฐต้องเข้าร่วมต้องลงทุนอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ต้องเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการปิโตรเลียมก่อน จึงจะสามารถสรุปข้อนี้ได้ สำหรับเม็ดเงินลงทุนครั้งนี้คาดว่าจะมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท