โจทย์ใหญ่…ปฏิรูปพลังงาน ทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วม ?

แม้ว่าแผนปฏิรูปด้านพลังงาน 6 ด้าน 17 ประเด็นจะถูกกำหนดขึ้นมาให้ครอบคลุมทุกด้านแล้ว แต่การขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติได้จริงกลับไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะประเด็นความอ่อนไหวเรื่องการสื่อสารระหว่างภาครัฐกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งในการเสวนาหัวข้อ “แผนปฏิรูปพลังงานสู่การปฏิบัติ” ในงานสัมมนา “สื่อสารนโยบายปฏิรูปประเทศด้านพลังงานสู่การปฏิบัติ” ซึ่งจัดโดยกระทรวงพลังงาน เป็นเวทีร้อนที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการเคลื่อนไหวการประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกช-เอราวัณขณะนี้

รีเซตองค์กร-วางอนาคต EEC

นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า แต่ละปีรายได้ด้านพลังงานนับเป็นส่วนผลักดันจีดีพีประเทศถึง 3 ล้านล้านบาท พลังงาน โดยเฉพาะ “พลังงานไฟฟ้า” ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิต การปฏิรูปพลังงานให้มีความมั่นคงประกอบไปด้วยหลายปัจจัยไม่เพียงเฉพาะบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่นับวันจะยิ่งลดน้อยลงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ ด้วย

ส่วนภาคการผลิตไฟฟ้าซึ่งเดิมการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เคยเป็นผู้เล่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาส่งผลให้เริ่มมีผู้เล่นมากขึ้นทั้งเอกชนที่นำเอาระบบ energy storage และประชาชนสามารถจัดหาพลังงานใช้เอง โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อปหรือพลังงานทางเลือกอื่น ๆเริ่มเข้ามาแทนที่

ขณะที่แหล่งก๊าซธรรมชาติ แม้ไทยมีฐานปิโตรเคมีที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่มีมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาท เป็น “bas base” แต่อนาค9แนวโน้ม 10 ปีข้างหน้า ก๊าซในอ่าวไทยจะค่อย ๆ ลดลง ดังนั้น จะเห็นว่าได้ กลุ่มบริษัทที่ทำอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อาทิ ปตท. เอสซีจี เริ่มหันไปลงทุนต่างประเทศ สิ่งที่ทำได้ไทยต้องหาจุดเเข็ง จึงมองว่า “เราต้องเสริมแกร่ง ด้วยการการกลั่นน้ำมัน ที่อดีตเคยเป็นต่อ ให้ยกระดับไปสู่ oil base แทน เพื่อให้ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปิโตรเคมี “ขณะเดียวกันต้องต่อยอดการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพราะอย่าลืมว่าในอนาคตอีอีซีจะเป็นที่ตั้งของแหล่งพลังงานทุกรูปแบบและสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย”

Advertisment

ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจและท้าทายอุตสาหกรรมพลังงานไทยไม่ว่าจะเป็น “จัดระเบียบแผน PDP ปรับระบบและจัดตั้งองค์กรใหม่” เพื่อเน้นความเป็นเอกภาพและความโปร่งใสขององค์กร” และการปรับรูปแบบองค์กรในกระทรวงพลังงานให้รองรับการบริหารจัดการจัดหาก๊าซธรรมชาติของเอกชนในรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต Production Sharing Contract หรือ “PSC ต้องเซ็ตให้มีความชัดเจนกว่าเดิม อนาคตต้องมีองค์กร PSC เฉพาะโดยมีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทำหน้าที่เป็นเรคกูเลเตอร์

“ปัญหาที่ผ่านมาอาจเกิดจากโครงสร้างรัฐบนสู่ล่าง แต่แผนปฏิรูปพลังงานจะเกิดขึ้นไม่ได้หากประชาชนไม่เข้าใจและขาดการมีส่วนร่วม และแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และไม่ว่ารัฐบาลไหนมาก็ต้องทำตรงนี้ให้ดีที่สุด”

เข็นโซลาร์รูท็อปแก้ผังเมือง

ด้าน พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เห็นว่า ขณะนี้เหลือเวลาเพียง 4 ปีที่ต้องเร่งดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญกรอบ 5 ปี ดังนั้น การผลักดันการใช้พลังงานทดแทนทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลจากไม้โตเร็ว พลังงานลม โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขยะ จะเกิดขึ้นได้เป็นรูปธรรมได้นั้น รัฐต้องเร่งปลดล็อกผังเมืองที่อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย รวมถึงโซลาร์รูฟท็อปเสรี ซึ่งได้เสนอให้มีการจัดตั้ง one stop service การอนุมัติติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แต่ทว่า ความยากของไทย “มีเทคโนโลยีพร้อม แต่ยังติดปัญหาเรื่องคน” การสร้างแหล่งพลังงานต้องอาศัยอำนาจการบริหารโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,800 กว่าแห่ง ซึ่งจะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่เข้าใจ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เสนอแนะ อย่างปราศจากเงื่อนไขโดยแท้จริง

Advertisment

การสร้างการรับรู้ระหว่างรัฐและประชาชน ควรไปในทิศทางเดียวกันให้ได้ เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว 3-4 ปีข้างหน้า โปรเจ็กต์ทั้งหมดที่รัฐวางไว้ที่ต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานท้องถิ่นรวมถึงอีอีซีก็จะไม่เกิดด้วย

เพิ่มบทบาทท้องถิ่น-ชุมชน

นายมนูญ ศิริวรรณ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน มองว่า อนาคตงานยากของแผนปฏิรูปพลังงานจะไปอยู่ที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่ต้องกำกับดูแล “ระบบสัมปทาน” 3 ระบบหลัก คือ ระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบสัญญาจ้างผลิต โดย 2 ข้อหลังเป็นเรื่องใหม่ของไทย ฉะนั้น การประมูลบงกช-เอราวัณขณะนี้จึงเป็นสัมปทานจำแลงเพราะไม่ต่างกัน นั่นเป็นสิ่งที่ท้าทายวงการพลังงานไทยจะทำอย่างไรให้เหมาะสมมากที่สุด

มากไปกว่านั้นคือ การจัดสรรค่าภาคหลวงสำหรับแหล่งบนบกเพื่อกระจายอำนาจ ให้เพิ่มอัตราจัดเก็บองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบจ. อบต. จากแห่งละ 20% เป็น 30% รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งได้เสนอให้จัดตั้งคณะทำงานภาคประชาสังคม ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประชาชน 9 คน เพื่อเพิ่มบทบาทให้คนในพื้นที่สามารถแสดงความเห็นการขอใช้พื้นที่นั้น ๆ ผ่านการสำรวจเชิงยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม SEA ได้ด้วย “เรียกว่าเพิ่มบทบาทท้องถิ่นให้มากขึ้น” อยากเห็นคนในชุมชนออกเสียงจริง ๆ ขณะเดียวกันควรมีแผนกำหนดธรรมภิบาล NGOs โดยการขึ้นทะเบียนทุกครั้งก่อนประชาพิจารณ์ด้วย