‘เจ้าสัวประชารัฐ’ รับลูกสมคิด รับปากซื้อข้าวโพดเกษตรกรหนีภัยแล้ง

สมคิดดึงพาณิชย์-เกษตรฯ กล่อม 10 เจ้าสัวประชารัฐ อุ้มเกษตรกร อัพรายได้ นำร่อง “ข้าวโพดหลังนา” 33 จังหวัด “ซี.พี.” ช่วยซื้อข้าวโพด ด้านสมาคมอาหารสัตว์ฟันธงข้าวโพดหลังนา 1 ล้านตันยังไม่พอ แนะรัฐผ่อนปรนหลักเกณฑ์ซื้อข้าวโพด 2 ต่อ 1-ชาวไร่ชี้แล้งโลกสะเทือนธัญพืชขาดตลาด ราคาข้าวโพดทะลุ 14 บาท ด้านทียูแนะรัฐปลดล็อกเลี้ยงกุ้งในนา

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมแนวทางการหาตลาดรองรับผลผลิตทางเกษตรตามแนวทางประชารัฐ ร่วมกับนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนรายใหญ่ อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร กรุงเทพโปรดิ๊วส ซีพี ออลล์ สยามแม็คโคร กลุ่มเซ็นทรัล เบทาโกร เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ไทยเบฟเวอเรจ ไทยยูเนี่ยน เพื่อใช้กลไกประชารัฐยกระดับราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น โดยให้กระทรวงเกษตรฯวางแผนการผลิตร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ทำการตลาด โดยเชื่อมโยงผู้ประกอบการรายใหญ่โมเดิร์นเทรด เช่น ท็อปส์ เดอะมอลล์ บิ๊กซี โลตัส แม็คโคร เข้ามาช่วยรับซื้อสินค้าเกษตร โดยมีกลไกสหกรณ์เป็นจุดรับซื้อ

โดยล่าสุด นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมนำร่องส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดหลังนา ในพื้นที่ 33 จังหวัด จากปีก่อน 31 จังหวัด เน้นพื้นที่ในเขตชลประทาน โดยวาง
งบประมาณ 641 ล้านบาท เพื่อดำเนินการใน 4 มาตรการ คือ การประกันภัยพืชผลทางการเกษตร มาตรการดอกเบี้ยต่ำ 0.1% ส่งเสริมการตลาด และการกำหนดราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาด เป็นต้น โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการ 6 เดือน เนื่องจากปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ประสบผลสำเร็จจะขยายไปยังสินค้าเกษตรชนิดอื่น เช่น กลุ่มผัก ผลไม้ เป็นต้น และกลุ่มเลี้ยงสัตว์ การประมง

ซี.พี.พร้อมรับซื้อ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า ภาครัฐต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนเชื่อมโยงสินค้าเกษตรและช่องทางการขาย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีปัญหา เช่น สับปะรด ข้าวโพด กระเทียม เป็นต้น เพื่อให้มีพื้นที่รองรับสินค้าต่าง ๆ ซึ่งภาคเอกชนต้องศึกษารายละเอียด สินค้าที่เหมาะสมในการเข้าไปสนับสนุนว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ทั้งนี้ สิ่งที่ที่ประชุมจะเร่งดำเนินการอันดับต้น ๆ คือ ข้าวโพด

ข้าวโพดหลังนายังไม่พอใช้

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนา 33 จังหวัด ตามเป้าหมาย 2 ล้านไร่ ที่คาดว่าจะเริ่มในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ และเก็บเกี่ยวช่วงต้นปี 2562 คาดว่าจะมีผลผลิตข้าวโพดประมาณ 1 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นก็ยังไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ที่ยังขาดอยู่ประมาณ 3 ล้านตัน

“ผู้ผลิตอาหารเข้าไปช่วยรับซื้ออยู่แล้ว เพราะผลผลิตข้าวโพดในประเทศแต่ละปีไม่เพียงพอ ถึงแม้ว่าจะเพิ่มการปลูกข้าวโพดหลังนาอีก 1 ล้านตัน ก็ยังขาดอีก 3 ล้านตัน ดังนั้น รัฐบาลควรช่วยผ่อนปรนมาตรการที่กำหนดให้เอกชนซื้อข้าวโพด 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (มาตรการ 3 ต่อ 1) ให้เหลือ 2 ต่อ 1 โดยประกาศให้ชัดเจนโดยเร็วเพื่อให้เอกชนสามารถวางแผนการผลิตได้ เพราะปีก่อนประกาศช้า ทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้ประโยชน์จากการผ่อนปรนดังกล่าว”

ส่วนราคาที่จะรับซื้อข้าวโพดจะยังคงอยู่ที่ กก.ละ 8 บาทหรือไม่นั้น นายพรศิลป์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ว่าจะกำหนดราคาอย่างไร แต่มีความเป็นไปได้ว่าเมื่อผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ราคาตามกลไกตลาดก็ควรอ่อนตัวลงตามไปด้วย ทั้งนี้ การตั้งราคารับซื้อจะต้องมีความสมดุลทั้ง 2 ฝ่าย หากตั้งราคาสูงเกินไปจะกระทบต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์และการเลี้ยงปศุสัตว์ ทำให้ไทยส่งออกไปแข่งขันได้ลำบาก ปัจจุบันราคาข้าวโพดในประเทศอยู่ที่ กก.ละ 8 บาท ส่วนราคาวัตถุดิบนำเข้าอยู่ที่ กก.ละ 5-6 บาท ต่างกันเฉลี่ย กก.ละ 1-2 บาท

แล้งดันราคาข้าวโพดพุ่ง

แหล่งข่าวจากสมาคมพ่อค้าข้าวโพดระบุว่า จะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการนี้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ “ราคา” ที่ตกลงรับซื้อเป็นหลัก หากราคาใกล้เคียงกับราคาปีที่ผ่านมา ที่รับซื้อ กก.ละ 8 บาท เชื่อว่าเกษตรกรจะเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ทิศทางผลผลิตธัญพืชโลกในปีหน้ามีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเกิดภัยแล้งจากคลื่นความร้อน ซึ่งมีแนวโน้มจะแล้งต่อเนื่อง 2-3 ปี ส่งผลให้ราคาข้าวโพดในตลาดโลกขณะนี้ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉลี่ยปัจจุบันราคาข้าวโพดนำเข้าไม่รวมต้นทุนค่าขนส่งปรับสูงขึ้นเป็น 260 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือราว กก.ละ 8.50-9.00 บาท ซึ่งราคาในประเทศก็ปรับตัวขึ้นตาม เป็นไปตามคาดการณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ประเมินว่า ราคาข้าวโพดมีโอกาสจะปรับขึ้นไปถึง กก.ละ 14 บาท

แนะเลี้ยงกุ้งในนา

ด้านนายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สินค้ากุ้งไม่ใช่สินค้าที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายของการหารือครั้งนี้ เพราะในช่วงที่ผ่านมาผลผลิตกุ้งลดลงไปถึง 50% เหลือเพียงปีละ 300,000 ตัน ซึ่งแทบไม่เพียงพอต่อการส่งออก ส่วนราคากุ้งมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นมองว่าสิ่งที่สำคัญ คือ รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหาโดยการเพิ่มพื้นที่การเลี้ยงกุ้ง ซึ่งจำเป็นต้องมีการแก้ไขมาตรา 9 (พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ) เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงกุ้งพื้นที่นาข้าวได้ จากเดิมที่ไม่อนุญาตเพราะเกรงจะกระทบนาข้าว

นายธีรพงศ์กล่าวว่า หากเปรียบเทียบการใช้ประโยชน์จากพื้นที่การทำเกษตรระหว่างข้าว 1 ไร่ และเลี้ยงกุ้ง 1 ไร่เท่า ๆ กัน จะพบว่าเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งจะได้รับผลตอบแทนดีกว่าข้าวแน่นอน