นายกฯ สั่ง”วิษณุ”หารือเกษตรฯ-พาณิชย์ ดัน พ.ร.บ.ข้าว

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ ข้าวพ.ศ…(พ.ร.บ.ข้าว) ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอร่างพ.ร.บ.ฯ โดยให้เหตุผลว่า ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจ มีการส่งออกเป็นอันดับต้นๆของโลก มูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี แต่มีชาวนาประมาณ 3.7 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 16-20 ล้านคน มีแนวโน้มเป็นชาวนาสูงวัยและยังยากจน

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ข้าว ต้องมีการเชื่อมโยงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันทั้งหมด โดยจะดูแลกระบวนการผลิต และกฎหมายที่ว่าด้วยการค้าขายข้าว อาทิ พ.ร.บ.พัฒนาที่ดิน พ.ศ.2551 พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2509 พ.ร.บ.กักกันพืช พ.ศ.2507 พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560 พ.ร.บ.เศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ.2552 พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 พ.ร.บ.การค้าข้าวพ.ศ.2489 และพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542

“ร่างพ.ร.บ.ข้าว ที่สนช.เสนอ ต้องมีการขึ้นทะเบียนตลอดห่วงโซ่การผลิต ไปจนถึงการส่งออกข้าว นายกรัฐมนตรีสั่งการให้รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมายเข้าไปร่วมดู เพราะ สนช.มีเจตนาดี แต่นายกรัฐมนตรีห่วงเรื่องของการทับซ้อน โดยกำชับให้เร่งดำเนินการก่อนการเลือกตั้งจะมาถึง ดังนั้น ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ จึงต้องร่วมประชุมในเรื่องของความทับซ้อนกฎหมายกับรองนายกรัฐมนตรีต่อไป” นายลักษณ์กล่าวและว่า พ.ร.บ.ข้าว ที่ร่างมาโดย สนช.มีผลกระทบต่อหลายฝ่าย ตั้งแต่กระทรวงเกษตรฯ กรมการข้าว ชาวนา ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เครือข่ายชาวนา โรงสีข้าว ผู้รับซื้อข้าวเปลือก ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก และผู้รับจ้างทำนา ซี่งจะส่งผลดีต่อเครือข่ายชาวนา จะมีความเป็นเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว มีอำนาจในการต่อรอง และเข้าถึงสิทธิในการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์