คนเลี้ยงไก่ไข่กระอัก! จี้ทบทวนมาตรฐานฟาร์ม

ตามที่คณะกรรมการได้พิจารณาเห็นชอบกำหนดนโยบายมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่เชิงพาณิชย์ (ไก่ไข่และไก่ไข่พันธุ์) เป็นมาตรฐานบังคับ สำหรับเป็นแนวทางปฏิบัติงานด้านการจัดการฟาร์ม และพัฒนาการเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อเพิ่มความสามารถและศักยภาพการแข่งขัน โดยให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ทำประชาพิจารณ์เพื่อออกประกาศมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่เป็นมาตรฐานบังคับนั้น

นายสันติ วิโรจน์บริสุทธิ์ ประธานกรรมการ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรฐานฟาร์มไก่ไข่ถือเป็นนโยบายที่รัฐมีความพยายามยกระดับมาตรฐานสู่สากล แต่ในทางปฏิบัติอาจจะเป็นไปได้ยาก และยิ่งสร้างช่องว่างความเหลื่อมล้ำต่ออุตสาหกรรมผู้เลี้ยงไก่ไข่ โดยเฉพาะผลกระทบต่อผู้เลี้ยงรายย่อย ที่มีกำลังผลิตน้อยถึงปานกลางจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่ไม่สอดคล้องกับบริบทการเลี้ยงของไทย

แม้ว่าเบื้องต้นจะกำหนดให้ฟาร์มที่มีไก่ไข่ไม่ต่ำกว่า 10,000 ตัว สามารถผ่อนปรนได้ แต่ฟาร์มที่ไม่ถึงแสนปัจจุบันเป็นรายเล็กทั้งหมด จะค่อนข้างเกิดช่องว่าง เนื่องจากข้อเท็จจริงอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ไข่ของไทย 1 ล้านตัว จัดเป็นรายกลางไปถึงรายใหญ่แทบทั้งหมด หากกฎหมายออกมาบังคับใช้ รายใหญ่ย่อมมีความพร้อมอยู่แล้ว สามารถลงทุนเครื่องจักรได้ ส่วนรายเล็กมีกำลังผลิตและกำลังทรัพย์ที่ไม่มากพอ รัฐควรต้องให้เวลาและทบทวนการจัดแบ่งกำลังผลิต และต้องรับฟังผู้เลี้ยงให้ทั่วถึง

“สหกรณ์เองขอตั้งคำถาม มกอช.ว่า ได้อธิบายให้ทุกฟาร์มเข้าใจหรือไม่ว่า บางอย่างเป็นเรื่องข้อกีดกันทางการค้า หากปฏิบัติตามหลักสากลมากเกินบริบทเกษตรกรรายย่อยนั้นจะกระทบตรงไหนอย่างไร เพราะจะให้กู้ธนาคารก็คงไม่คุ้ม ขณะเดียวกันธนาคารตั้งเงื่อนไขว่าลงทุนไปคุ้มหรือไม่ มีความเสี่ยงหรือไม่ บอกได้เลยว่า วอลุ่มของผู้ประกอบการรายเล็กไม่เหมาะกับการลงทุนที่มากเกินไป ทั้งต้นทุนสูงอาจไม่คุ้มทุนแน่นอน จะเห็นได้จากปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกลดลงจาก 100 ราย เหลือเพียง 80 ราย

เนื่องจากรับต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว ธุรกิจนี้รายใหญ่แข่งขันกันในตลาดอยู่แล้ว หากยิ่งไปสร้างเงื่อนไขแบบนี้ ยิ่งบีบให้ผู้เลี้ยงบางรายที่วอลุ่มเล็ก ๆ ต้องเลิกกิจการ แนวทางดี แต่ต้องมีระยะเวลา ทุกคนพร้อมปรับตัว ไม่ได้เพิกเฉย เราทำธุรกิจ เราต้องปรับตัว ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้”

ทางด้าน นายพิศาล พงศ์ศาพิชณ์ รองเลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า มกอช.อยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์รายภาค เพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากการจัดเวทีในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความคิดเห็นค่อนข้างตรงกันว่า หากออกประกาศเป็นมาตรฐานบังคับในปี 2561 ฟาร์มรายย่อยขนาดเล็กที่มีจำนวนแม่ไก่ ไข่น้อยกว่า 1 หมื่นตัว ไม่ต้องขอใบอนุญาตใหม่ แต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ และหลังจากออกกฎหมายบังคับแล้ว ให้ฟาร์มขนาดกลางสามารถผ่อนปรนได้ 3 ปี และฟาร์มขนาดใหญ่ให้ผ่อนปรนได้ 1 ปี

ทั้งนี้จะมีการทำประชาพิจารณ์รายภาคอีก 2 ครั้ง เพื่อสรุปและประกาศเป็นมาตรฐานบังคับให้ทันในต้นปี 2561