รัฐบาลทุ่มสุดตัวก่อนการเลือกตั้ง งัดสารพัด ของขวัญปีใหม่ รับประกันโดนใจรากหญ้า

เปิดปฏิทินนับถอยหลังแค่เดือนกว่าๆ ก็จะเข้าสู่เทศกาลปีใหม่แล้ว ตามธรรมเนียมของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต้องออกนโยบายเศรษฐกิจด้านต่างๆ เพื่อมอบเป็น “ของขวัญปีใหม่” ให้กับคนไทย แต่ปีใหม่นี้พิเศษกว่าตรงที่เข้าโหมดใกล้กำหนดวันเลือกตั้งพอดิบพอดี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและบรรดารัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงเริ่มประกาศมาตรการเด็ดๆ โดนๆ เพื่อเป็นกล่องของขวัญปีใหม่ แกะแล้วจะสร้างรอยยิ้มให้กับประชาชนทุกระดับ แต่เน้นหนักกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อย ฐานรากของประเทศ

คลังจัดแน่มาตรการกระตุ้นศก.ปลายปี

เริ่มที่กระทรวงหลักอย่างกระทรวงการคลังประกาศแล้วว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีนี้แน่นอน แต่ที่แน่ๆ คือความคืบหน้านโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มผู้พิการ, ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ในปี 2560 โดยมีทีมไทยนิยมยั่งยืนของกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานผู้รับลงทะเบียนในระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม-30 มิถุนายน 2561 กระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานกลางในการตรวจสอบคุณสมบัติ มีคนที่มาลงทะเบียนเพิ่มเติม 4.5 ล้านคน และในจำนวนนี้เป็นผู้มีคุณสมบัติและได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 3.1 ล้านคน ทำให้จำนวนผู้ถือบัตรเพิ่มขึ้นเป็น 14.2 ล้านคน จากก่อนหน้านี้ที่มีจำนวน 11.1 ล้านคน

“ผู้ที่ผ่านเกณฑ์รอบใหม่สามารถรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2561 และเริ่มใช้บัตรได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป โดยสิทธิประโยชน์เหมือนกับผู้ถือบัตรเดิม คือวงเงินในบัตรเพื่อซื้อสินค้าในร้านธงฟ้า คนละ 200 บาท กรณีรายได้เกิน 3 หมื่นบาท/ปี และ 300 บาท กรณีรายได้ไม่เกินหมื่นบาท/ปี รวมถึงวงเงินเพื่อโดยสารรถเมล์หรือรถไฟฟ้า รถไฟ และ บขส.อย่างละ 500 บาท/เดือน วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ปัจจุบันรัฐบาลมีภาระงบประมาณจากโครงการบัตรสวัสดิการ เดือนละ 3.5 พันล้านบาท” กระทรวงการคลังระบุ

ช้อปช่วยชาติต้องจังหวะเหมาะ

ขณะที่มาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยใช้ข้อมูลจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระราคาสินค้าอุปโภคบริโภค (ไม่รวมสินค้าที่มีภาษีสรรพสามิต อาทิ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ น้ำมันเชื้อเพลิง หรือสินค้าไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มอื่นๆ) เริ่มแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 มีข้อมูลการใช้จ่ายระหว่างวันที่ 1-14 พฤศจิกายน 2561 จำนวน 557,266 ราย เป็นเงินกว่า 145 ล้านบาท มีจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต 7%) จำนวนกว่า 9 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังจะคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ 6% จากทั้งหมด 7% และจ่ายชดเชยวันที่ 14 ธันวาคม 2561

ส่วนมาตรการสีสันอย่าง “ช้อปช่วยชาติ” ที่หลายคนลุ้นว่าปีนี้จะจัดหรือไม่ นายสมคิดได้สะกิดผู้สื่อข่าวให้ถามนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่ารออีกหน่อยนะ โอกาสออกมาตรการนี้จึงสูงเพียงพอต้องรอจังหวะเวลาที่เหมาะสม

พณ.จัดลดราคาตามธรรมเนียมสูงสุด70%

แต่ที่จัดให้แน่ๆ คือสินค้าราคาถูกช่วงเทศกาลปีใหม่ ต้องยกให้เจ้าภาพกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดเตรียมผนึกสมาคมผู้ค้าส่ง/ค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ห้างโมเดิร์นเทรด ผู้จำหน่ายและผลิตสินค้า จัดงานลดราคาจำหน่ายสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 ภายใต้ชื่อ “ลดหนัก จัดเต็ม นิวเยียร์ แกรนด์ เซลส์” ระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม 2561-9 มกราคม 2562 โดยทุกห้างสรรพสินค้าจะนำสินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้ในชีวิตประจำวัน ของขวัญของฝาก จัดโปรโมชั่นลดราคา 30-70% พร้อมกันทั่วประเทศในเวลาดังกล่าว คาดว่าจะมีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท จากการประเมินว่าจะมีคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวในประเทศกว่า 40 ล้านคน

โดยเอกชนที่เข้าคาราวานลดครั้งนี้ เบื้องต้นประกอบด้วย บริษัทโอสถสภา จำกัด (มหาชน) บริษัทยูนิลีเวอร์ไทย เทรดดิ้ง จำกัด บริษัทคอลเกต ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทกรีนสปอต จำกัด บริษัท ข้าวแสนดี จำกัด บริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด บริษัทน้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัทโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย (จำกัด) บริษัท ซีพี อินเตอร์เทรด จำกัด (ข้าวตราฉัตร) ถือเป็นสีสันเพื่อช่วยประชาชนทั่วไปประหยัดเงินในกระเป๋าได้มากโข

เว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าชั่วคราว 21 ประเทศ

เทศกาลจับจ่ายใช้สอยสินค้าราคาถูกนอกจากจะถูกใจคนไทยแล้ว ในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ชื่นชอบเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลไทยเห็นโอกาสนี้ในการดึงเงินเข้าประเทศครั้งนี้จึงอนุมัติร่างกฎกระทรวงยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามมาตรา 12 ประเภทนักท่องเที่ยวชนิดใช้ได้ครั้งเดียว เป็นการชั่วคราว พ.ศ.2561 ยกเว้นเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราของคนต่างด้าวซึ่งประสงค์จะเดินทางเข้ามาในประเทศเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวเป็นเวลาไม่เกิน 15 วัน จากปกติที่ยื่นขอรับการตรวจลงตราที่ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองจะต้องเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 2,000 บาท โดยครอบคลุม 21 ประเทศ ได้แก่ อันดอร์รา, บัลแกเรีย, ภูฏาน, จีน, ไซปรัส, เอธิโอเปีย, ฟิจิ, อินเดีย, คาซัคสถาน, ลัตเวีย, ลิทัวเนีย, มัลดีฟส์, มอลตา, มอริเชียส, ปาปัวนิกินี, โรมาเนีย, ซานมารีโน, ซาอุดีอาระเบีย, ไต้หวัน, ยูเครน และอุซเบกิสถาน โดยมาตรการดังกล่าวจะครอบคลุมตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 ถึงเดือนมกราคม 2562 รวม 60 วัน ซึ่งอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่

ทั้งนี้ เป้าหมายเพื่อเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยในช่วงปลายปี โดยเฉพาะเทศกาลปีใหม่ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30% เนื่องจากตัวเลขนักท่องเที่ยวช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาในกลุ่ม 21 ประเทศนี้มีแนวโน้มลดลงพอสมควร นี่จึงเป็นแนวทางกระตุ้นอย่างหนึ่ง ส่วนตัวเลขความสูญเสียจากการงดเว้นค่าธรรมเนียมนั้นคิดว่าในขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถตอบได้ ต้องรอเปรียบเทียบจากการใช้จริงหลังมาตรการงดเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว

นอกจากนี้ยังผุดโครงการ Amazing Thailand Grand Sale “Passport Privileges” โครงการภายใต้ความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชนไทยที่จะช่วยกันส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561-15 มกราคม 2562 เป็นการเพิ่มสิทธิการรับส่วนลดผ่านการออกแบบโปรแกรมบริการพิเศษ หรือสิทธิประโยชน์ให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ที่แสดงหนังสือเดินทางเพื่อแลกรับสิทธิส่วนลด หรือของที่ระลึกจากร้านค้า ร้านอาหาร ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลอดอากร ร้านอัญมณีและเครื่องประดับ ร้านสปา และสถานพยาบาล ที่เข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ

พลังงานจัดน้ำมันราคาถูกช่วยฐานราก

ขณะที่กระทรวงพลังงานก็เป็นอีกหน่วยงานที่ผู้ใช้น้ำมันทุกกลุ่มลุ้นมาตรการลดราคาหวังประหยัดเงินเดินทางช่วงปีใหม่ ซึ่งมาตรการปกติอย่างการดูแลราคานั้น แน่นอนจัดให้ทุกปีอยู่แล้ว ล่าสุดสัญญาณราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลงจากผลพวงการยกเลิกสัญญาเก็งกำไร บวกกับผลจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ขยายวงกว้างเพราะตลาดรับรู้และประเทศผู้ผลิตน้ำมันมีมาตรการรองรับ ดังนั้นปีใหม่นี้คนไทยมีโอกาสใช้น้ำมันราคาไม่แพงแน่นอน โดยจะมีผู้ค้าเจ้าหลัก อย่าง ปตท.และบางจาก ประกาศดูแลราคาเจ้าแรกๆ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานยังอยู่ระหว่างเดินหน้าดูแลผู้มีรายได้น้อย 2 มาตรการหลัก เรื่องแรกคือ มาตรการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ในภาวะที่ปาล์มล้นตลาดจนเกษตรกรออกมาโวยวายต่อเนื่อง กำหนด 2 แนวทาง แนวทางแรก คือการสนับสนุนผู้ใช้รถบรรทุก รถโดยสารสาธารณะ และเรือขนส่ง

ใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 เดิมถูกกว่าราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้นอีก 3 บาทต่อลิตร แต่กระทรวงพลังงานประกาศเพิ่มเป็น 5 บาทต่อลิตร ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม-28 กุมภาพันธ์ 2562 ช่วยดูดซับซีพีโอเพิ่มมากขึ้นได้อีกประมาณ 31,303 ตัน คาดว่าจะทำให้ปริมาณการใช้สูงสุดถึง 100 ล้านลิตรต่อเดือน จำนวน 80,000 คันทั่วประเทศ จากปัจจุบันมีปริมาณการใช้ 3.5 ล้านลิตรต่อเดือน จากรถบรรทุก และรถโดยสารสาธารณะจำนวน 2,000 คัน และเรือ 64 ลำ

แนวทาง 2 เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ให้ ครม.อนุมัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 1.6 แสนตัน เพื่อผลิตไฟฟ้าร่วมกับเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยปัจจุบันโรงไฟฟ้าบางปะกงอยู่ระหว่างปรับเครื่องจักรและเริ่มเดินเครื่องกลางเดือนมกราคม 2562 คาดว่าจะใช้เวลา 6 เดือน จึงจะดูดซับสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ได้ครบทั้งหมด สามารถระบายน้ำมันปาล์มดิบได้ถึงเดือนละ 3 หมื่นตันตัน

ขณะที่มาตรการ 2 ในการดูแลผู้มีรายได้น้อย คาดว่าจะเป็นของขวัญโดนใจฐานรากอย่างผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างอย่างมาก คือมาตรการลดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 อัตรา 3 บาทต่อลิตร ให้กับกลุ่มรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก และเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการนี้จึงถูกรวมอยู่ในแพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง

เบื้องต้นกระทรวงพลังงานประสานตัวเลขกับกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง ได้ตัวเลขผู้ได้สิทธิจำนวน 40,000 ราย แบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ 8,000 ราย ต่างจังหวัด 32,000 ราย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหารือกระทรวงการคลังเพื่อสรุปรูปแบบการใช้เงิน วิธีการและแหล่งเงินที่จะใส่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในเบื้องต้นจะใช้วิธีให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างจ่ายเงินก่อนแล้วจะจ่ายคืนผ่านบัตรสวัสดิการเดือนละ 450 บาท กำหนดเสร็จทันเดือนธันวาคมเพื่อประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ 2562

บีโอไอออกแพคเกจออนท็อป

ไม่เพียงมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยและประชาชนทั่วไป ในด้านการดูแลนักลงทุนในไทยและต่างชาติ เครื่องจักรอีกตัวในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประเทศ ล่าสุดนายสมคิดได้สั่งการให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)จัดทำแพคเกจกระตุ้นลงทุนปี 2562 โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) บีโอไอ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะมีการพิจารณาวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ เบื้องต้นทราบว่าจะเสนอมาตรการเร่งรัดการลงทุนตามนโยบายปีแห่งการลงทุน โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติแก่โครงการที่ยื่นคำขอภายในปี 2562 รวมทั้งจะเสนอมาตรการกระตุ้นให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตลาดทุนของประเทศไทยด้วย

8 หมื่นรายเฮก.อุตเลิกต่ออายุร.ง.4

ส่วนนักลงทุนหรือเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการอยู่แล้ว แม้จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ส่วนนี้ แต่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็มีมาตรการอำนวยความสะดวกเอกชนในการต่ออายุใบอนุญาตโรงงาน (ร.ง.4) โดนเตรียมปลดล็อกกระบวนการขอต่ออายุ ร.ง.4 ที่มีอายุ 5 ปีต่อราย คาดจะมีผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศได้ประโยชน์ประมาณ 80,000 ราย ไม่ต้องต่อใบอนุญาตโรงงาน แบ่งเป็นโรงงานที่ต้องขออนุญาตกับ กรอ. 60,000 ราย และโรงงานที่ขออนุญาตกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 20,000 ราย ซึ่งปกติผู้ประกอบการจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการต่ออนุญาตต่อครั้งเฉลี่ย 1,500-60,000 บาท ค่าธรรมเนียมขึ้นอยู่ขนาดแรงม้าของโรงงาน

ขั้นตอนการกำกับดูแลโรงงานหลังยกเว้นการต่ออายุ ร.ง.4 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะให้โรงงานเป็นผู้ประเมินตนเองทุกปี หรือ Self-declared และส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กลับมา กรอ. ซึ่ง กรอ.จะมีเติร์ด ปาร์ตี้ ที่มีทั้งภาครัฐและเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับ กรอ.เป็นคณะทำงานในการตรวจสอบโรงงานแบบย้อนกลับ

โดยนายอุตตมย้ำว่า มาตรการนี้จะเดินหน้าทันทีที่ร่าง พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. … ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและมีผลบังคับใช้ มั่นใจจะเป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ประกอบการในต้นปี 2562

ประเด็นนี้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธีประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเห็นด้วย ระบุว่า การยกเว้นดังกล่าวเป็นขั้นตอนที่สร้างความสะดวก ลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ดี ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

ร่วมมือส.อ.ท.พัฒนาเอสเอ็มอี-สตาร์ตอัพ

นอกจากนี้ นายอุตตมยังเตรียมหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) วันที่ 26 พฤศจิกายน ถือเป็นการประชุมร่วมครั้งสำคัญระหว่าง 2 หน่วยงาน เพราะจะมีอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศและสภาอุตสาหกรรมแต่ละจังหวัดร่วมหารือ ซึ่งคีย์เวิร์ดที่กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้า คือความร่วมมือในการพัฒนาประสิทธิภาพฐานการผลิต ยกระดับสิ่งแวดล้อม และโรงงาน 4.0 เพื่อดูแลทั้งโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และโรงงานทั่วประเทศ

นอกจากนี้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีด้วยการนำเอาหน่วยงานภูมิภาคเข้าช่วย โดยเฉพาะศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ไอซีที) ทั่วประเทศ ขณะที่ด้านต่างประเทศก็จะดึงนักลงทุนเข้ามาร่วมพัฒนาผู้ประกอบการไทย อาทิ ความร่วมมือกับจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ในการจัดตั้งศูนย์มิเอะ ไทยแลนด์ อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ แลป เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ก่อนจะขยายไปสู่ไทยแลนด์ อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ ที่จะดูแลเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพทุกอุตสาหกรรมทั่วประเทศ

ผุดมาตรการอุ้มหนุ่มสาวโรงงาน

นายอุตตมยังกล่าวถึงของขวัญปีใหม่จากกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับสมบูรณ์อย่างน่าสนใจว่า “มีแน่นอน และเตรียมปล่อยเร็วๆ นี้ เพราะเป็นธรรมเนียมที่ต้องดูแลผู้ประกอบการทั้งเอสเอ็มอี ภาคเกษตร ฐานราก แต่ปีนี้จะพิเศษตรงที่เราจะดูแลกลุ่มแรงงานด้วย แต่ยังไม่ให้รายละเอียดตอนนี้ เพราะการที่ไทยจะปฏิรูปตัวเอง หรือ Transform ต้องมาจากคนด้วย เราต้องเข้าไปดูแลลดภาระของพวกเขา ถ้าเอสเอ็มอีล้มจะช่วยเขายังไง อย่างกลุ่มแรงงานอนาคตจะมีการใช้หุ่นยนต์ทดแทน ดังนั้นแรงงานไทยต้องมีศักยภาพเพิ่มขึ้น ขณะที่การพึ่งพาต่างด้าวก็ไม่ยั่งยืนเพราะวันหนึ่งพวกเขาต้องกลับประเทศตัวเอง”

ประเด็นการช่วยเหลือแรงงาน “มติชน” ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงรายหนึ่งในแวดวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่า การช่วยเหลือแรงงาน หรือหนุ่มสาวโรงงานครั้งนี้ไม่ใช่การขึ้นค่าจ้างตามที่รัฐบาลหรือพรรคการเมืองใช้หาเสียงแน่นอน แต่จะเป็นการดูแลสวัสดิภาพแรงงานทั้งระบบของประเทศ ซึ่งปัจจุบันแรงงานในระบบมีประมาณ 5 ล้านคน และนอกระบบ 5 ล้านคน แต่นายอุตตมและทีมเศรษฐกิจจะเข้าไปดูแลทั้งหมด

แนวทางการดูแลจะเข้าไปช่วยเหลือตั้งแต่กรณีแรงงานถูกเลิกจ้างกะทันหันจะทำอย่างไร กรณีลาออกหรือย้ายงานจะทำอย่างไร กรณีเจ็บป่วยจะทำอย่างไร หรือกรณีเสียชีวิตจะทำอย่างไร ลูกหลานครอบครัวจะมีแนวทางใดรองรับช่วยเหลือหรือไม่ ดังนั้นเบื้องต้นสิ่งที่นายอุตตมจะทำคือการเข้าไปพูดคุยรับฟังความคิดเห็นของแรงงานในพื้นที่ในเร็วๆ นี้

นำระบบประกันเข้าอุ้ม

ขณะที่มาตรการที่อยู่ระหว่างจัดทำ จะมีทั้งการอบรมสร้างอาชีพเสริม การอบรมพัฒนาทักษะเพื่อปฏิบัติงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น ประเด็นนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานเอง ส่วนด้านการเงินกระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกับบริษัทประกันภัยในการจัดทำกรมธรรม์ความคุ้มครองแรงงาน โดยแรงงานจะต้องมีส่วนในการจ่ายเงินสะสมด้วยตลอดการดูแล ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการอุดหนุนเงินให้ส่วนหนึ่งแต่จะมีกรอบเวลาสั้นๆ ทำให้วงเงินที่ใช้หลักร้อยล้านเท่านั้น

ส่วนบทบาทของนายจ้างจะมีส่วนในการทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมแน่นอน หลังจากได้รับประโยชน์จากภาครัฐที่จัดให้อย่างเต็มที่ น่าจับตามาตรการของขวัญปีใหม่สำหรับหนุ่มสาวโรงงานครั้งนี้ เพราะเป็นนโยบายใหม่ที่ต่างไปจากการลด แลก แจก แถม เพื่อสร้างความนิยม คาดว่านายอุตตมและทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลน่าจะเปิดตัวเร็วๆ นี้

ส่วนจะโดนใจ เป็นของขวัญสร้างความสุขให้คนไทยช่วงใกล้บรรยากาศเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน อีกเดือนกว่าๆ มาติดตามผลงานกัน…


ที่มา : ทีมข่าวเศรษฐกิจ นสพ.มติชนรายวัน