ข้องใจTORท่าเรือมาบตาพุด บังคับนำเข้าLNG-ขอเคลียร์กระทรวงพลังงาน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

กนอ.ไขข้อกังวล 18 นักลงทุนซื้อซองท่าเรือมาบตาพุด ระยะ 3 หวั่นข้อกำหนดขั้นต่ำต้องนำเข้าก๊าซ LNG 5 ล้านตัน ภายในปี 2567 แถมผลตอบแทนทางการเงินยังน้อยกว่าโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวภายหลังการประชุมชี้แจง โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) หลังจากที่เปิดขายซองTOR ในกลางเดือนที่ผ่านมานี้ ปรากฏมีนักลงทุนสนใจเข้ามาซื้อซองทั้งหมด 18 ราย ซึ่งได้เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงครั้งนี้ด้วย

และเพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ล่าสุด นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงาน ในการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 กับผู้รับสัมปทาน โดยให้เอกชนร่วมดำเนินงานในกิจการของรัฐรูปแบบ PPP เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1)  อยู่ภายใต้ EEC Project List ตั้งอยู่บน พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ เป็นการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ (LNG) ของท่าเรือ
อุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่จะรองรับการขนถ่ายสินค้าเหลวได้ประมาณ 15 ล้านตันต่อปี ในอีก 30 ปีข้างหน้า

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากที่ประชุมเข้ามาว่า ตัวแทนจากบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)-บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)-บริษัท ไทยแท้งค์เทอร์มินัล และบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) ต่างแสดงความกังวลเรื่องปริมาณความต้องการ LNG ที่ยังคงไม่แน่ใจว่า ระยะเวลาที่กำหนดให้สร้าง LNG Terminal 2 ปีนั้น “สั้นเกินไปหรือไม่” เนื่องจากมีข้อกำหนดที่ต้องมีปริมาณนำเข้าก๊าซ LNG ที่ 5 ล้านตัน และทำไมจะต้องเริ่มขำเข้าก๊าซ LNG ในปริมาณที่ 5 ล้านตันในทันที

ขณะที่ข้อกำหนดการพัฒนาธุรกิจและบริหารจัดการท่าเรือก๊าซมีผลการศึกษาคาดการณ์ปริมาณการขั้นต่ำก๊าซ LNG ในปี 2574 จะอยู่ที่ 1.77 ล้านตัน/ปี และหากทั้ง 2 กรณีมี LNG ไม่ถึง จะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร จะเสียค่าปรับหรือไม่ และยังคงกังวลเรื่องของผลตอบแทนอัตราคิดลดทางการเงิน 2.5% “ที่น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่คิดอัตราที่ 6%” ภาพรวมทั้งหมดในทางเทคนิคถือว่า “ยาก และจะมีผลต่อการกู้เงินที่จะยากยิ่งกว่า”

ซึ่งทาง กนอ.ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การที่กำหนดให้ต้องเริ่มนำเข้า LNG ในปริมาณที่ 5 ล้านตัน ในทันทีในปี 2567 เนื่องจากต้องการให้มีกิจกรรมโดยไม่ใช่ก่อสร้างแล้วทิ้งโครงการไว้ ซึ่งในระหว่างก่อสร้างได้เปิดให้มีเวลาหาตลาดด้วยเช่นกัน

สำหรับนักลงทุนที่ซื้อซอง 18 บริษัท ประกอบด้วย กลุ่มนักลงทุนไทย 10 ราย 1) บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล  2)บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์   3) บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 4) บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์   5) บมจ. พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล 6) บริษัท ไทยแท้งค์เทอร์มินัล 7) บมจ. ผลิตไฟฟ้า  8) บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง  9) บริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) และ 10) บริษัท สหการวิศวกร

กลุ่มนักลงทุนจีน 4 ราย 1)  China Railway Construction Corporation  2) China Harbour Engineering  3) บริษัทชิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด และ 4) บริษัทไชน่า คอมมูนิเคชั่น คอนสตรัคชั่น กลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่น 2 ราย 1) บริษัท Mitsui & Co., Ltd. กับ 2) บริษัท Tokyo Gas Co.,Ltd. และกลุ่มนักลงทุน
เนเธอร์แลนด์ 2 ราย 1) บริษัท Boskalis International B.V. กับ 2) บริษัท Vopak LNG Holding B.V.