สนช.เห็นชอบอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉ.188 การทำงานในภาคประมง

รมว.แรงงาน แถลงหลักการสำคัญของอนุสัญญา 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง ยืนยันเป็นประโยชน์กับแรงงาน ส่งผลดีต่อภาคประมงในระยะยาว ส่งผลให้ไทยส่งออกสินค้าได้มากขึ้น

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเห็นชอบให้กระทรวงแรงงานดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) โดยไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียน และในภูมิภาคเอเชีย ที่ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับดังกล่าว เพื่อเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปทั่วโลกได้ว่า ณ วันนี้ ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลแรงงาน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในภาคประมงของไทย ให้ดียิ่งขึ้นเทียบเท่า มาตรฐานสากล ซึ่งจะทำให้ภาคประมงของไทยได้รับการยอมรับ มีภาพลักษณ์ที่ดี และจะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงไทยในขณะนี้ รวมถึงจะส่งผลต่อภาพรวมด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศในสินค้าอาหารทะเลของไทยที่ปัจจุบันมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยปีละสองแสนล้านบาทด้วย เพราะจะช่วยเพิ่มความม่นใจให้กับผู้บริโภคสินค้าประมงไทยได้ว่าสินค้าของเราจะเป็นสินค้าที่ผลิตอย่างมีจริยธรรมและมีธรรมาภิบาล

พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวต่อว่า ก่อนที่จะมาถึงวันนี้กระทรวงแรงงานได้รับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วมาหลายรอบ และได้ยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานประมงขึ้นมาโดยมีเนื้อหาที่สะท้อนข้อเสนอของทุกภาคส่วน และกระทรวงแรงงานได้มีการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้วจำนวน 6 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ทั้งกับแรงงาน นายจ้าง และภาพลักษณ์ของภาคประมงไทย และสินค้าประมงไทยโดยรวม

สำหรับการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ประมาณกลางปีหน้านั้น ขอย้ำว่าจะไม่กระทบต่อกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านแต่อย่างใด และจะใช้บังคับเฉพาะกับกลุ่มเรือประมงพาณิชย์ของไทยที่มีขนาด 30ตันกรอสส์ขึ้นไปที่มีประมาณ 5,000 กว่าลำ สำหรับเรื่องโครงสร้างเรือจะใช้บังคับเฉพาะกับเรือประมงพาณิชย์ที่เป็นเรือต่อใหม่ที่มีขนาด 300 ตันกรอสส์ขึ้นไป และขนาดความยาวตลอดลำเรือ 26.5 เมตรขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเรือที่ทำประมงนอกน่านน้ำไทย และหลายเรื่องไม่ได้เร่งให้เจ้าของเรือต้องดำเนินการในทันทีทันใด แต่จะค่อยเป็นค่อยไปในทางปฏิบัติ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นจะเกี่ยวข้องกับการดูแลลูกจ้าง สภาพการจ้าง รวมทั้งคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของลูกจ้างทั้งหมดเป็นสำคัญ ซึ่งขอเน้นย้ำว่าเราจะดูแลทั้งคนงานไทยและคนงานต่างด้าวในภาคประมงไทย

โดยรวมแล้ว กล่าวได้ว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 188 ไม่ได้สร้างภาระเพิ่มเติมต่อชาวประมงอย่างที่ในอดีตเคยมีบางท่านได้เคยแสดงความห่วงกังวลแต่อย่างใด เนื่องด้วยปัจจุบันประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายสอดคล้องกับข้อกำหนดของอนุสัญญาเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว (คิดเป็นร้อยละ 80) ได้แก่ กฎหมายที่มีอยู่ของกระทรวงแรงงาน กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมการแพทย์ อาทิ เช่น อายุขั้นต่ำ การตรวจสุขภาพ อัตรากำลัง ชั่วโมงพัก รายชื่อลูกเรือ สัญญาจ้างงาน การส่งแรงานกลับจากท่าเรือในต่างประเทศ ไม่เก็บค่าบริการจัดหางานจากแรงงาน การจ่ายเงิน ที่พักอาศัยเหมาะสม อาหาร น้ำดื่่ม การดูแลรักษาการเจ็บป่วย