ชป.เผยพร้อมเร่งพร่องน้ำเขื่อนใต้รับฝนหนักพายุปาบึก-รมว.กฤษฎากำชับหน่วยงานเฝ้าติดตาม24ชั่วโมง

แฟ้มภาพ

กรมชลประทาน คาดการณ์น้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางภาคใต้ เร่งพร่องน้ำให้มีพื้นที่รองรับฝนที่จะตกหนักถึงหนักมาก จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ปาบึก”

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่ภาคใต้ ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ปาบึก” ซึ่งได้มีการเตรียมการล่วงหน้าในการพร่องน้ำทั้งในอ่างเก็บน้ำและลำน้ำต่างๆ ไว้แล้ว เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ อย่างไก็ตาม จากการวิเคราะห์รายพื้นที่ พบว่ายังมีอ่างเก็บน้ำที่มีความจำเป็นต้องมีการพร่องน้ำเพิ่ม เพื่อให้มีช่องว่างมากขึ้นไว้รองรับปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างฯ ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 1 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และขนาดกลางอีก 15 แห่ง ดังนี้ จ.เพชรบุรี 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำทุ่งขาม อ่างเก็บน้ำห้วยสามเขา และอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย จ.ประจวบคีรีขันธ์ 8 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองจะกระ อ่างเก็บน้ำคลองช่องลม อ่างเก็บน้ำคลองบึง อ่างเก็บน้ำห้วยอ่างหิน อ่างเก็บน้ำยางชุม อ่างเก็บน้ำห้วยวังเต็น อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม และอ่างเก็บน้ำห้วยมงคล จ.สุราษฎร์ธานี 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองสวนหนัง จ.นครศรีธรรมราช 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองกะทูน และอ่างเก็บน้ำคลองดินแดง และ จ.กระบี่ 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองหยา

นอกจากนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดอีก 17 แห่ง ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 1 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และขนาดกลางอีก 16 แห่ง ดังนี้ จ.เพชรบุรี 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบ้านกระหร่างสาม อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด อ่างเก็บน้ำห้วยทราย และอ่างเก็บน้ำห้วยผาก จ.สุราษฎร์ธานี 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบางทรายนวล จ.นครศรีธรรมราช 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส และอ่างเก็บน้ำเสม็ดจวน จ.ระนอง 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ หาดส้มแป้น จ.กระบี่ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเขียว และอ่างเก็บน้ำบางกำปรัด จ.ตรัง 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ คลองท่างิ้ว และอ่างเก็บน้ำบ้านพรุเตย จ.พัทลุง 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง จ.สงขลา มี 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองจำไหร และอ่างเก็บน้ำคลองหลา และ จ.นราธิวาส อีก 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ประสานกับจังหวัดต่างๆและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการบูรณาการทำงานร่วมกัน ในการเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งประชาชนสามารถติดต่อสอบถามสถานการณ์น้ำได้ที่สายด่วนกรมชลประทาน 1460 หรือ www.rid.go.th<http://www.rid.go.th> และ http://wmsc.rid.go.th/

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา กรณีพายุโซนร้อน “ปาบึก” ที่คาดว่าจะเคลื่อนลงอ่าวไทย ซึ่งจะส่งผลให้วันที่ 3 – 5 ม.ค. 2562 เกิดฝนตกหนักทั้ง 16 จังหวัดภาคใต้ ได้มีความห่วงใยถึงสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รีบสั่งการทางวิทยุ/ช่องทางการสื่อสารทุกช่องทางไปยังหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ พร้อมจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชม. ทั้งด้านการสูบน้ำ การอพยพปศุสัตว์ การเตือนประชาชน พร้อมกำชับให้เร่งรีบดำเนินการ รวมทั้งมอบหมายผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ไปตรวจติดตามด้วย เพื่อลดความสูญเสียให้น้อยที่สุด และรายงานผลให้ทราบทุกระยะ

Advertisment

สำหรับการป้องกันแก้ไขปัญหาจากพายุปาบึกในพื้นที่ 16 จังหวัดภาคใต้ ขอให้ทุกหน่วยตรวจสอบวัสดุ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ ที่ทำการ บ้านพัก โดยให้หาทางระวังป้องกันอันตรายจากพายุปาบึก ที่อาจทำให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหายไว้ด้วย พร้อมกันนี้ขอให้ประสานงานกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและหน่วยทหารในพื้นที่ให้เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพด้วย

ทั้งนี้ จากการประชุมกองบัญชาการและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ในการเฝ้าระวัง ติดตาม และเตรียมการเผชิญเหตุ กรณีพายุโซนร้อน “ปาบึก” เมื่อวันพุธที่ 2 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา แนวโน้มสถานการณ์ช่วงวันที่ 3 – 5 มกราคม 2562 มีปริมาณฝน 200 – 300 มม./วัน มีคลื่นความสูง 3-5 เมตร โดยทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ และกรมชลประทาน ได้ปฏิบัติการดังนี้

1.ทุกหน่วยงานประเมินความเสี่ยงและลดความเสี่ยงเตรียมป้องกันเหตุ โดยติดตามเส้นทางพายุ ปริมาณฝน ปริมาณน้ำท่า คลื่นจากพายุ (strom surge) เพื่อดำเนินการพร่องน้ำ/ระบายน้ำ รองรับมวลน้ำ และบริหารจัดการน้ำในเขื่อน อ่าง ขนาดต่าง ๆ ให้สอดคล้องขนาดและความรุนแรงของพายุ

2.จัดสรรพกำลัง ยานพาหนะขนาดใหญ่ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ระบบสื่อสาร/วิทยุสื่อสาร ความพร้อมประตูระบายน้ำ เสบียงอาหาร เสบียงสัตว์ เวชภัณฑ์ เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ในพื้นทีเมื่อเผชิญเหตุอุทกภัยก่อนหน้า

Advertisment

3.ร่วมปฏิบัติการตามแนวปฏิบัติของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอย่างใกล้ชิด

4.ร่วมสนับสนุนการป้องกัน ระงับยับยั้ง เรือประมง ตามประกาศงดเดินเรือของจังหวัด

5.เตรียมพร้อมเพื่อการหยุดยั้งความเสียหาย การประเมินความเสียหาย และการฟื้นฟู ด้านการเกษตร เมื่อพายุได้ผ่านไปโดยเร็ว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!