ชำแหละ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ลบภาพ “เสือกระดาษ” ปลอดการเมืองแทรก

อีกไม่ถึง 2 เดือน พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2560 นี้แล้ว โดยกฎหมายฉบับนี้มีทั้งหมด 6 หมวด 92 มาตรา แตกต่างจากฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2542) ที่มี 7 หมวด 56 มาตรา โดยสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ไม่เพียงแต่แยก “สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า” ออกมาเป็นหน่วยงานอิสระ แต่ยังได้ “เพิ่มความเข้มข้น” เพื่อแก้ไขจุดอ่อนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบและพฤติกรรมการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจาก 18 ปีที่แล้ว

ไทม์ไลน์กฎหมายใหม่

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวหลังจากกฎหมายแข่งขันฉบับใหม่จะมีผลบังคับวันที่ 5 ตุลาคม นี้ว่า กรมการค้าภายในจะต้องยกร่างอนุบัญญัติอีก 81 ฉบับ ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคมนี้ และจะตั้งคณะกรรมการ (ชุดรักษาการ) เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบอนุบัญญัติก่อนเปิดประชาพิจารณ์และประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนธันวาคม 2560

พร้อมกันนี้ กรมจะต้องเตรียมความพร้อมในการจัดทำแผนของบประมาณ จัดตั้งสำนักงาน จัดจ้างบุคลากร (ตามไทม์ไลน์ประกอบ) สำหรับอัตรากำลัง 64 อัตรา แบ่งเป็น รองเลขาธิการสำนักฯ 1 อัตรา, ฝ่ายตรวจสอบภายใน 3 อัตรา, สายงานบริหารกลาง 15 อัตรา, สายงานวิเคราะห์โครงสร้างธุรกิจและพัฒนาระบบการแข่งขันทางการค้า 14 อัตรา, สายงานกำกับดูแลพฤติกรรมทางการค้า 15 อัตรา และสายงานกฎหมายและคดี 16 อัตรา (ไม่รวมเลขาธิการสำนักฯ 1 อัตรา และที่ปรึกษาอีก 3 อัตรา) หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก “คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า” ในดือนกรกฎาคม ปี 2561 และคัดเลือกเลขาธิการสำนักฯภายในเดือนธันวาคม 2561

หน่วยงานอิสระปลอดการเมือง

Advertisment

ในมุมมองของนายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ อดีตรองอธิบดีกรมการค้าภายใน ที่คลุกคลีเกี่ยวกับงานแข่งขันทางการค้ามานานกว่า 16 ปี ให้ความเห็นว่า พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 นั้น “ตอบโจทย์” ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยเฉพาะการแยกสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามาเป็นหน่วยงานอิสระมีฐานะเทียบเท่า “กรม” จากเดิมมีฐานะเป็น “สำนัก” อยู่ภายใต้สังกัดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ขณะที่ตัว “กรรมการ” เดิม มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นรองประธาน และกรรมการมาจากการแต่งตั้ง

แต่ในกฎหมายฉบับใหม่ปรับมาใช้วิธีการสรรหา โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา 9 คน ทำหน้าที่สรรหา “คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า” ซึ่งประกอบด้วย ประธาน 1 คน, รองประธาน 1 คน, กรรมการอื่น ๆ อีก 5 คน รวม 7 คน เมื่อได้ตัวกรรมการครบแล้วก็จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา วาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ต่ออายุได้ 2 วาระ

พร้อมกับ “ล็อกคุณสมบัติกรรมการ” จะต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้มานานกว่า 10 ปี และที่สำคัญได้ห้ามไม่ให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรธุรกิจ หุ้นส่วนที่มีอำนาจในการจัดการในห้างหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นเกินกว่า 5% ของทุนทั้งหมดของบริษัท, ข้าราชการประจำ/พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ/ราชการส่วนท้องถิ่น, ไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินธุรกิจ และไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในสถาบัน หรือสมาคม ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของผู้ประกอบธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์หรือประโยชน์ร่วมกันในทางการค้า

อีกทั้งระบบการจ้างงานของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กำหนดให้พนักงานเป็นผู้ปฏิบัติงาน “เต็มเวลา” ได้ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ทั้งหมดนี้เชื่อว่าจะช่วยป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน “ถือว่ามีส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรมมากขึ้น”

Advertisment

ทั้งนี้ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า จะต้องทำหน้าที่ให้ความเห็นรัฐมนตรีออกกฎกระทรวง กำกับดูแลการประกอบธุรกิจ พิจารณาเรื่องร้องเรียน สอบสวน พิจารณาวินิจฉัยคำร้อง วางระเบียบการสืบสวน ดำเนินคดีอาญาตามที่ผู้เสียหายร้องทุกข์ พิจารณากำหนดโทษปรับทางปกครอง รวมถึงฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เชิญบุคคลมาให้ข้อเท็จจริง เสนอความเห็นต่อภาครัฐ และคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายแข่งขันทางการค้า

เบื้องต้นรัฐบาลยังต้องจัดสรรงบประมาณให้เป็นทุนประเดิม เงินอุดหนุนทั่วไป ส่วนค่าธรรม ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินการ ก็จะเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่งที่จะนำมาใช้บริหารประเทศ นอกจากนี้จะมีเงินและทรัพย์สินทางที่มีผู้อุทิศให้หรือเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงดอกผลจากเงินดังกล่าวได้ด้วย

อุดช่องโหว่ซ้ำรอย เอ.พี.ฮอนด้า

ที่สำคัญก็คือ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ยังอุดช่องโหว่ที่เป็นจุดอ่อนเดิม โดยจะเห็นได้จากกรณีเรื่องร้องเรียนผ่านสำนักงานตั้งแต่ปี 2542 มีการร้องเรียนมากเกือบ 100 เรื่อง แต่มีเพียงกรณีของบริษัท เอ.พี.ฮอนด้า เรื่องเดียวที่คณะกรรมการได้พิจารณาถึงขั้นเสนอต่ออัยการ เพื่อดำเนินการสั่งฟ้อง “แต่ก็ยื้อกันไปยื้อกันมาระหว่างหน่วยงาน” จนท้ายที่สุดอัยการให้ความเห็นไม่ฟ้องและคดีหมดอายุความลงไป กรณีนี้ได้สร้างความเสียหายเกิดขึ้น โดยสังคมมองว่า “กฎหมายฉบับนี้เป็นเสือกระดาษใช้ไม่ได้จริง”

และเพื่อแก้ปัญหาข้างต้น ในร่าง พ.ร.บ.ใหม่ มาตรา 25 ที่แก้ไขเพิ่มเติมจากมาตรา 16 กฎหมายเดิม ระบุว่า คณะกรรมการมีความเห็นควรสั่งฟ้องไปยังพนักงานอัยการ หากมีการแย้งไม่ฟ้อง แต่ประธานกรรมการเห็นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการดังกล่าว ก็ให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นแย้งไปยัง “อัยการสูงสุด” พิจารณา หากอัยการสูงสุดเห็นว่ายังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ขอให้แจ้งสาเหตุไม่สมบูรณ์ให้ครบถ้วนในคราวเดียวกัน และให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขสำนวนแล้วส่งอัยการสูงสุดเพื่อสั่งดำเนินคดีต่อไป

ว่าด้วยการควบรวมธุรกิจ

ที่สำคัญกร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ได้ “เพิ่มดีกรี” การกำกับดูแลป้องกันการผูกขาดและการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องของ “การควบรวมธุรกิจ” ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมระหว่างผู้จำหน่าย-ผู้จำหน่าย, ผู้ผลิต-ผู้ผลิต, ผู้ผลิต-ผู้จำหน่าย หรือผู้บริการ-ผู้บริการ ซึ่งเดิมไม่มีความชัดเจน ยกตัวอย่างกรณี เทสโก้ฯควบรวมแม็คโคร มักมีการตั้งคำถามว่า จำเป็นต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าหรือไม่ ? หากการควบรวมทำให้มีอำนาจเหนือตลาดและส่งผลต่อการแข่งขัน ทว่าประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนใน พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันก็คือ จะใช้เกณฑ์อะไรวัด ประกอบกับไม่มี “เกณฑ์ควบรวม” กฎหมายจึงไม่สามารถกำกับดูแลเรื่องเหล่านี้ได้

ดังนั้น ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่จึงให้ความสำคัญกับการควบรวมอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น โดยแบ่งแยกการควบรวมธุรกิจออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ แบบที่ 1 การควบรวมที่ส่งผลให้มีการจำกัด/ลดการแข่งขัน ให้แจ้งภายใน 7 วัน หรือแบบที่ 2 หากควบรวมแล้วทำให้เกิดการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด ต้องได้รับ “อนุญาต” จากคณะกรรมการการแข่งขันฯ ซึ่งจะพิจารณาตามความจำเป็นทางธุรกิจ/ประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ/การไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง และการไม่กระทบต่อผู้บริโภคส่วนรวม โดยคณะกรรมการจะต้องสรุปภายใน 90 วัน ขยายเวลาได้อีก 15 วัน และต้องระบุเหตุในการอนุญาตควบรวมไว้ด้วย หากผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับคำสั่งมีสิทธิฟ้องศาลปกครองภายใน 60 วัน

พร้อมกันนี้ ได้มีการกำหนดค่าธรรมเนียมการขออนุญาตรวมธุรกิจครั้งละ 250,000 บาท, การขอวินิจฉัยตามมาตรา 59 ครั้งละ 50,000 บาท และค่าคัดสำเนาคำสั่งตามมาตรา 52, 59 และ 60 หน้าละ 100 บาท จากเดิมที่ไม่มีค่าใช้จ่าย

โทษอาญา-ปกครอง

สุดท้ายคือ การเพิ่มบทลงโทษให้มีทั้งโทษอาญา กับโทษทางปกครอง ในส่วนของบทลงโทษทางอาญาที่เด่นชัดมากก็คือ การเพิ่มในส่วนของโทษปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ หากกระทำผิดตามมาตรา 50 ผู้มีอำนาจเหนือตลาดที่มีพฤติกรรมจำกัดการแข่งขันที่เสรีหรือเป็นธรรม เช่น กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม แทรกแซงการกระทำของผู้อื่น เป็นต้น หรือมาตรา 54 ผู้ประกอบการที่มีพฤติกรรมการฮั้วกัน ทำให้เกิดการผูดขาด (ฮั้วแบบรุนแรง) เช่น กำหนดราคา กำหนดเงื่อนไข จำกัดปริมาณสินค้า หรือดำเนินการในลักษณะ “สมรู้กัน” ส่วนในกรณีที่มีพฤติกรรมการฮั้วตามมาตรา 55 (ฮั้วแบบอ่อน) เช่น ลดคุณภาพสินค้าหรือบริการ แต่งตั้งบุคคลในเป็นผู้ดูแลการจำหน่าย ก็จะมีโทษทางปกครองเช่นกัน

ขณะที่โทษทางปกครองในร่าง พ.ร.บ.ใหม่ ไม่เพียงเน้นไปที่พฤติกรรม “ฮั้วแบบอ่อน” แต่ยังรวมถึงการกระทำผิดเกี่ยวกับการควบรวมธุรกิจ เช่น ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง การไม่แจ้งผลการควบรวมธุรกิจภายใน 7 วัน จะมีโทษทางปกครองสูงสุดถึงปรับไม่เกิน 200,000 บาท และปรับอีกในอัตราไม่เกิน 10,000 บาทต่อวันที่ฝ่าฝืน แต่หากควบรวมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 51 วรรคสอง หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 53 ไม่ปฏิบัติตามระยะเวลาที่กำหนด จะมีโทษปรับไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจ จากเดิมมีเพียงโทษปรับหรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้การคำนวณและเปรียบเทียบปรับเป็นเปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นไปตามระบบสากลที่ใช้ในหลายประเทศ

ทั้งหมดนี้ทำให้ร่าง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ได้กลายมาเป็น “ความหวัง” ในการปกป้องธุรกิจและยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมภายในประเทศมากยิ่งขึ้น