สะเทือนชาวนา 15 ล้านคน TDRI-พ่อค้า-โรงสี ผนึกต้าน พ.ร.บ.ข้าว

ต้นสายปลายเหตุการเสวนา “ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. …. : ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง” จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พร้อมกับ4 สมาคมผู้ส่งออก โรงสีข้าว ผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว และชาวนาไทย ได้ส่งสัญญาณถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นพ้องค้านสุดลิ่ม หากรัฐบาลยังดันทุรังผลักดัน พ.ร.บ.ข้าวเพื่อเป็นของขวัญชาวนา รังแต่จะส่งผลกระทบหนักต่อชาวนาเสียเอง เพราะทั้งหมดเห็นตรงกันว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 โดยถ้อยคำสำคัญระบุว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น

แนะสางบทบาท ขรก.หวั่นปมพันธุ์ข้าวบานปลาย

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า หากมองย้อนไปที่เจตนารมณ์แรกกับความจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาไทยให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้การพิจารณา พ.ร.บ.ข้าว ในวาระ 1 ชั้นกรรมาธิการ ผ่านฉลุย

แต่เมื่อมีการเพิ่มและปรับแก้กลับพบจุดอ่อนหลายมาตราที่ต้องตั้งคำถาม โดยเฉพาะมาตราการพัฒนา หลายหมวดได้เพิ่มกฎหมายที่มุ่งเข้ามากำกับ ควบคุมเพียงอย่างเดียว โดยที่รัฐคิดว่าการใช้ยาแรงจะเห็นผลเร็ว ดี แต่เรื่องข้าวและชาวนาค่อนข้างซับซ้อน เป็นเรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้น การจัดระเบียบฐานข้อมูลจะดีกว่าการที่ต้องแต่งตั้งอนุกรรมการตามมาตรา 13

รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลตามมาตรา 14 นั้น เหมือนเป็นการจับผิดที่โทษร้ายแรงมาก ไม่ได้เป็นการจัดทำเพื่อการพัฒนาจึงไม่ต่างจากคำว่า “ขี่ช้างจับตั๊กแตน”

น่าสนใจว่า มาตราที่จะเป็นผลเสียหายต่อ “วงการข้าว” คือ การพัฒนาพันธุ์ข้าว ซึ่งได้ระบุว่า การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว

ที่ยังไม่ได้รับการรับรองพันธุ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 27/1 และมาตรา 33/2) โดยมาตรานี้จะปิดกั้นขัดขวางการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ของไทย ซึ่งในอดีตข้าวพันธุ์พื้นเมืองหลายพันธุ์ที่กลายเป็นพันธุ์ยอดนิยมได้แพร่หลายไปในหมู่ชาวนาก่อนที่หน่วยราชการจะให้การรับรองพันธุ์ด้วยซ้ำ และมาตราที่จะเป็นผลเสียหายต่อชาวนาเอง คือ มาตรา 27 จะปิดกั้นการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ อีกด้วย โดยทั้งหมดให้อำนาจไปที่กรมการข้าว ยิ่งกว่าตำรวจ เหมือนการค้าข้าวเป็นอาชญากรรม หากไม่กระทำตามมีความเสี่ยงถึงโทษจำคุก 3-5 ปีก็มี ทั้งที่บริบทไม่สอดคล้อง ซึ่งในข้อนี้ กรมการข้าวก็น่าเห็นใจ ต้องตกที่นั่งลำบาก เพราะปัจจุบันบทบาทของกรมไม่ชัดเจนว่าจะอยู่ในฐานะนักวิจัย หรืออะไรกันแน่

พ่อค้าโอดต้นทุนสูง ข้าวไทยแพงแพ้คู่แข่ง

ขณะที่ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มองว่า พ.ร.บ.ข้าวฉบับนี้ มีข้อดีมากที่สุด คือ เรื่องโซนนิ่งเท่านั้น แต่เป้าหมายที่จะเข้ามาควบคุมการดำเนินการของภาคเอกชนตลอดห่วงโซ่จะส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เมื่อต้นทุนการส่งออกสูงขึ้น ผลกระทบจะตกอยู่กับเกษตรกรโดยตรง ในขณะที่การแข่งขันของผู้ส่งออกไทยได้เริ่มส่งสัญญาณแล้วว่าด้อยลงมาก เพราะราคาข้าวไทยแพง จึงไม่แปลกที่คู่แข่งเวียดนามเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ข้าว กำหนดโทษการพัฒนาพันธุ์ข้าวสูงมาก ทำให้เอกชนไม่กล้าลงทุนวิจัย จากปัจจุบันการพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทยน้อยมากอยู่แล้ว ทั้งที่เป็นตลาดผู้ซัพพลายข้าวลำดับต้น ๆ ของโลก แต่ภาครัฐเองกลับพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ข้าวหอมมะลิที่น่าภาคภูมิใจ ปัจจุบันตลาดตกต่ำอย่างต่อเนื่อง และประเทศเพื่อนบ้านกำลังจะแย่งชิง

ตลาดข้าวไทย ซึ่งน่าห่วงมาก

ด้าน นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า นิยามของคำว่า ข้าวสาร ข้าวเปลือก ผู้ร่างแทบไม่เข้าใจคุณลักษณะของข้าวด้วยซ้ำ การจดทะเบียนและขึ้นทะเบียนในมาตรา 19 ที่ต้องมีผู้ตรวจสอบคุณสมบัติ คนที่อยู่ในวงการรู้ดีว่า ใครจะเข้ามาตรวจสอบ ตรงนี้จะเป็นการเปิดช่องโหว่ให้คนกลุ่มนี้เข้ามาหาผลประโยชน์หรือไม่ และมีบางข้อที่เพิ่มโทษโรงสี หากไม่มีการออกใบรับซื้อ ซึ่งบริบทที่แท้จริงนั้น ชาวนาจะใช้ความรู้ขายข้าวเปลือกให้โรงสีอยู่แล้ว

ส่วน นายเกษม ผลจันทร์ นายกสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว มองว่ายังไม่มีความชัดเจนว่า ชาวนาจะได้ประโยชน์จากส่วนใด สมาคมได้เข้ารับฟังร่าง พ.ร.บ.ข้าว ยอมรับว่าไม่เห็นด้วย ซึ่งกฎหมายทับซ้อนกับกฎหมายว่าด้วยพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน้าที่อำนาจกรมวิชาการเกษตร ทำให้ผู้ประกอบการดำเนินการลำบาก จะซ้ำซ้อนกับกรมการข้าวหรือไม่ และที่สำคัญ สมาคมไม่เคยได้แสดงความเห็นต่อร่างนี้เลยสักครั้ง ทั้งที่เป็นเรื่องพันธุ์ข้าวโดยตรง หากร่างนี้ผ่าน เราจะเดินหน้ากันอย่างไร รัฐกำลังจะฆ่าช้างเพื่อเอางาหรืออย่างไร

พ.ร.บ.ข้าวเพื่อเป็นของขวัญชาวนาจริงหรือ ?

ทางด้าน นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย มองว่า การพัฒนาข้าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่นโยบายที่เกิดจากรัฐบาลแต่ละยุคกลับทำลายชาวนาเสียเอง นอกจากไม่ได้ทำให้ชาวนาเกิดความเข้มแข็งขึ้น ยังลดความสามารถลง ซึ่งตั้งแต่อยู่วงการข้าวมามากกว่า 30 ปี ไม่เคยเข้าไปให้ความเห็น พ.ร.บ.นี้ หากยังฝืนออกกฎหมาย จะยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกของกลุ่มชาวนาในอนาคตแน่นอน

“มีคนถามผมเยอะ เขาบอกออกกฎหมายมาเพื่อชาวนาแท้ ๆ แต่ทำไมผมไม่เห็นด้วย เพราะผู้เขียน พ.ร.บ.นี้ไม่มีความชำนาญเรื่องข้าว การประกาศกึกก้องว่า นี่เป็น ‘ของขวัญชาวนา’ ไม่ใช่สิ่งที่ชาวนาอยากได้เลย เราไม่ได้เรียกร้อง ไม่แบมือขอ เราขอให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง ที่บอกว่าชาวนา 15 ล้านคนจะดีขึ้นจากของขวัญชิ้นนี้ อาจจะทำให้ชาวนาไทยล่มสลาย รวมถึงถ้า พ.ร.บ.นี้ผ่าน วันนี้ผมได้เกี่ยวข้าว แต่ต่อไปผมจะไม่ได้เกี่ยวข้าวแล้ว เพราะนิยามข้าวหายไป ที่นาอาจจะไม่ใช่ต้นข้าวอีกต่อไป แปลกใจว่า นิยามที่นา คือ ที่ดินที่ชาวนามีกรรมสิทธิ์โดยกฎหมาย แต่นั่นกลับเป็นการเปิดช่อง โดยเพิ่มคำว่า ‘การอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย’ จะทำให้ชาวนากลุ่มนั้นตกที่นั่งลำบากกว่าเดิม ต่อไปที่นาจะปลูกอะไรก็ได้หมดเลยหรือ”

ขณะเดียวกัน ดร.ขวัญใจ โกเมศ เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้มุมมองทิ้งท้ายว่า การจะออกกฎหมายใด ๆ รัฐบาลต้องไม่ลืมว่า อุตสาหกรรมทุกอย่างย่อมมี steakholder ดังนั้น ตามกระบวนการต้องผ่านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อมาพัฒนาร่วมกัน ไม่ใช่เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ที่น่าสนใจ คือ พ.ร.บ.ข้าวฉบับนี้ ไม่มีข้อใดที่บอกว่าเน้นการวิจัยเลย ทั้งที่ไทยมีผู้วิจัยพันธุ์ข้าวที่มีศักยภาพมาก แต่เราไปไหนไม่ได้ นี่คือสิ่งที่รัฐต้องสนับสนุน สะท้อนให้เห็นง่าย ๆ ได้เลย คือ ผู้ร่างยังไม่เข้าใจนิยามคำว่า พันธุ์ข้าวพื้นเมือง แปลว่าอะไรเลยด้วยซ้ำ หากร่างนี้ผ่าน บอกได้เลยว่า เหมาะสมกับประเทศที่ล้าหลัง เราจะกลับไปสู่จุดเริ่มต้น และยิ่งซ้ำเติม ลดขีดความสามารถแข่งขันอุตสาหกรรมข้าวไทย

คลิกอ่านเพิ่มเติม… กมธ.ดันต่อร่าง “พ.ร.บ.ข้าว” TDRI จับมือชาวนา-โรงสี-ผู้ส่งออกต้าน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!