ปตท.สผ.อัดฉีด 1 ล้านล้านบาท เดินหน้าแผนงานแหล่งบงกช-เอราวัณ เล็งหาพันธมิตรเพิ่ม

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. เปิดเผยภายหลังการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต แปลง G1/61 หรือแหล่งเอราวัณ และแปลง G2/61 หรือแหล่งบงกช เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ว่า จากนี้ไป บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ( ปตท.สผ. อีดี :PTTEP ED) บริษัทย่อยของ ปตท.สผ.จะเดินหน้าตามแผนงานที่ได้เตรียมการไว้ โดยมีเป้าหมายหลักคือการรักษาความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจากทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ โดยในส่วนของแหล่งบงกชซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้วนั้น บริษัทสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องทันที ส่วนแหล่งเอราวัณนั้น ปตท.สผ. อีดี จะดำเนินงานตามแผนงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินการ(Transiton of Operations) โดยจะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถเข้าดำเนินการและผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นพลังงานให้กับประเทศได้อย่างต่อเนื่องในปี 2565

“ปตท.สผ. เชื่อว่าความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นประโยชน์โดยตรงของประเทศและประชาชน โดยภาครัฐมีความมุ่งมั่นให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่ง ปตท.สผ. อีดี ได้เตรียมความพร้อมสำหรับเรื่องนี้ไว้แล้ว และเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ดำเนินการปัจจุบันของแหล่งเอราวัณ เพื่อให้การผลิตก๊าซฯ ในอนาคตให้กับประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นเช่นเดียวกับที่ผู้ดำเนินการปัจจุบันของแหล่งเอราวัณได้ปฏิบัติภารกิจนี้ได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด” นายพงศธร กล่าว

สำหรับแผนการดำเนินงานทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณตามข้อเสนอสัญญาฯ ที่จะรักษาระดับการผลิตก๊าซฯ ตั้งแต่ปี 2565 ไปจนถึงตลอดช่วงอายุสัญญาฯ ไม่น้อยกว่า 700 และ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามลำดับนั้น ปตท.สผ. อีดี วางแผนที่จะลงทุนอีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท สำหรับการพัฒนาแหล่ง เช่น เจาะหลุมสำรวจและหลุมผลิต การก่อสร้างแท่นผลิตเพิ่มเติม

“ในฐานะที่ ปตท.สผ. เป็นบริษัทไทย เรามีพันธกิจที่ต้องแสวงหาพลังงานเพื่อประเทศไทยและคนไทย ทั้งนี้ การผลิตก๊าซในอ่าวไทยหลังจากปี 2565 เป็นต้นไป เกือบร้อยละ 80 จะมาจากการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งหมายถึงเราจะกลายเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของประเทศ ส่วนงบประมาณ แบ่งเป็นแหล่งบงกชประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาท และแหล่งเอราวัณ 600,000-700,000 ล้านบาท โดยเงินทุนทั้งหมดมาจากเงินสำรองของบริษัทและรายได้ที่เข้ามาในแต่ละปีเพื่อที่จะใช้บริหารจัดการ”

ทั้งนี้ บริษัทยืนยันว่ายังมีกระแสเงินสดเพียงพอ จึงไม่จำเป็นต้องกู้เงิน และต้องยอมรับว่าเมื่อเปลี่ยนหลักเกณฑ์จากระบบสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) จะมีเตรียมตัวเยอะพอสมควร แต่บริษัทก็มีความพร้อมที่จะเดินหน้าเต็มที่และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากผู้รับสัมปทานรายเก่าให้การเปลี่ยนผ่านนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งนี้ในอนาคตก็มีแนวคิดที่จะให้บริษัทอื่น ๆ เข้ามาร่วมดำเนินการในแหล่งใดแหล่งหนึ่งร่วมด้วย แต่เรื่องดังกล่าวยังต้องผ่านคณะกรรมการ(บอร์ด) และผู้ถือหุ้นของบริษัทก่อน

ส่วนในด้านของแผนทรัพยากรบุคคล ปตท.สผ. อีดี ยินดีต้อนรับเพื่อนพนักงานทุกคนที่พร้อมจะร่วมสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินการของแหล่งเอราวัณ และร่วมสานต่อในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถสรุปรายละเอียดเกี่ยวกับแผนทรัพยากรบุคคลแหล่งเอราวัณได้ภายในปีนี้

ขณะที่ ข้อเสนอที่ ปตท.สผ. อีดียื่นต่อรัฐฯ ในการประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณว่าค่าคงที่ราคาก๊าซ (Price constant) ที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งได้เสนอไปนั้น บริษัทมั่นใจว่าเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน รวมทั้ง ปตท.สผ. เองที่ยังคงได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ ปตท.สผ. อีดี สามารถเสนอค่าคงที่ราคาก๊าซที่ต่ำลงนั้น เนื่องมาจากการเป็นผู้ดำเนินการทั้งแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณ จะทำให้บริษัทมีปริมาณการผลิตก๊าซฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีผลตอบแทนจากขายก๊าซฯ เพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วย ในขณะเดียวกัน สามารถบริหารจัดการต้นทุนการผลิตก๊าซฯ ให้ลดลงได้จากการผสาประโยชน์(Synergy) ในการดำเนินการทั้ง 2 แหล่งร่วมกัน เช่น ค่าบริหารจัดการส่วนกลาง, ค่าเจาะหลุม ค่าแท่นหลุมผลิต ค่าใช้จ่ายของระบบโลจิสติกส์และการจัดหาสินค้าและบริการต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถลดต้นทุนได้ประมาณร้อยละ 20 – 25

“เราได้ทำการวิเคราะห์อย่างรอบคอบในทุกด้านแล้ว และมั่นใจว่าข้อเสนอที่ได้ยื่นเสนอต่อภาครัฐในการประมูลนั้น มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงาน ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะราคาขายก๊าซที่ลดลง จะส่งผลให้ไฟฟ้าซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตมีราคาถูกลงด้วย ในขณะเดียวกัน ปตท.สผ. เองยังสามารถเติบโตได้เช่นเดียวกัน” นายพงศธร กล่าว

สำหรับการดำเนินการในแหล่งเอราวัณ ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตนั้น ปตท.สผ. ได้ร่วมทุนกับ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ในสัดส่วนการลงทุน 60% และ 40% ตามลำดับ ส่วนแหล่งบงกช ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการเอง ด้วยสัดส่วนการลงทุน 100% อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงมีแผนลงทุนร่วมกันพันธมิตรรายอื่นเพิ่มอีกด้วย

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!