พาณิชย์ คาดว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ทั้ง FTA และ GSP ทั้งปี 62 โต 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9%

กรมการค้าต่างประเทศ เผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าไตรมาสแรกมีมูลค่า 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.38% อาเซียนใช้สิทธิ์สูงสุด คาดยอดมีแนวโน้มโตอีก หลังล่าสุดเชื่อม e-Form D กับบรูไนสำเร็จ ส่วนการใช้สิทธิ GSP สหรัฐฯ ยังครองแชมป์ มั่นใจปีนี้ยอดใช้สิทธิ์โตตามเป้า 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 9%

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 3 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมอยู่ที่ 18,039.03 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ 76.89% เพิ่มขึ้น 2.38% โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 16,745.54 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.08% และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) มูลค่า 1,293.49 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.92%

ทั้งนี้ การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ปัจจุบันมี 12 ฉบับ และกำลังจะมีฉบับที่ 13 คือ อาเซียน-ฮ่องกง จะบังคับใช้ 11 มิ.ย.2562 โดยคู่ค้าที่ไทยใช้สิทธิประโยชน์ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.อาเซียน มูลค่า 6,228.20 ล้านเหรียญสหรัฐ 2.จีน มูลค่า 4,319.55 ล้านเหรียญสหรัฐ 3.ญี่ปุ่น มูลค่า 2,051.10 ล้านเหรียญสหรัฐ 4.ออสเตรเลีย มูลค่า 2,024.17 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5.อินเดีย มูลค่า 1,168.25 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.2562 เป็นต้นไป กรมฯ จะเริ่มให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Form D อย่างเต็มรูปแบบกับบรูไน ซึ่งเป็นประเทศที่ 5 เพิ่มเติมจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกไปบรูไนได้เพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันสินค้าไทยที่ส่งออกไปบรูไนยังมีการใช้สิทธิ FTA น้อย แต่การมี  e-Form D จะช่วยให้ไทยส่งออกไปบรูไนได้เพิ่มมากขึ้น”

สำหรับสินค้าส่งออกไทยในตลาดบรูไนที่มีมูลค่าสูง 5 อันดับแรกในปี 2561 ได้แก่ 1.ข้าว 2.ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 3.เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ 4.ยานยนต์ความจุกระบอกสูบ 1,000-1,500 ซีซี และ 5.ยานยนต์ความจุกระบอกสูบ 1,500-3,000 ซีซี ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในรายการสินค้าที่บรูไนลดภาษีนำเข้าภายใต้กรอบอาเซียน และผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตให้ได้ถิ่นกำเนิดในไทยเพื่อส่งออกโดยใช้สิทธิฯ กรอบอาเซียนได้

นายอดุลย์ กล่าวว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP จำนวน 5 ระบบ ประกอบด้วย สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช นอร์เวย์ และญี่ปุ่น (ญี่ปุ่นยกเลิกการให้สิทธิ GSP ตั้งแต่เม.ยง2562)  มีมูลค่า 1,293.49 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราการใช้สิทธิ 64.28% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP เพิ่มขึ้น 22.92% โดยเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐฯ สัดส่วนมากที่สุด คือ 92% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด โดยในช่วง 3 เดือน มีมูลค่า 1,195.23 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิ 75.74% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 1,584.35 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.40% โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง รถจักรยานยนต์ และแว่นตาที่ไม่ใช่กันแดด

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 กรมฯ คาดว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ทั้ง FTA และ GSP จะมีมูลค่าประมาณ 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% ซึ่งมีความเป็นไปได้ แต่ต้องจับตาดูทิศทางการส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หากยืดเยื้อ ก็จะกระทบต่อการส่งออก แต่ถ้ามีทิศทางดีขึ้น ก็จะทำให้การส่งออกดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในส่วนของกรมฯ จะเดินหน้าพัฒนาและปรับปรุงระบบการให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และจัดสัมมนาเผยแพร่เพื่อให้ผู้ประกอบการเร่งใช้สิทธิประโยชน์ด้วย