ปตท.สผ. ปรับเพิ่มเป้าหมายปริมาณการขาย พร้อมงบลงทุน 5 ปี สะท้อนความสำเร็จการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ปรับเพิ่มเป้าหมายปริมาณการขายปิโตรเลียม และงบลงทุน 5 ปี (2562 – 2566) จากการเข้าซื้อกิจการ และการได้รับสิทธิการดำเนินงานในแปลงสัมปทานต่าง ๆ

โดยแผนงานต่อไป จะให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินการที่ได้จากการเข้าซื้อกิจการและในแหล่งก๊าซฯที่ชนะการประมูล เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการผลิตปิโตรเลียม รองรับการเติบโตในระยะยาว

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ปตท.สผ. จะการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์เชิงรุกในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และ G2/61 (แหล่งบงกช) ในอ่าวไทย

การชนะการประมูลและได้รับสิทธิในแปลงสำรวจปิโตรเลียมทั้งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และมาเลเซีย การเข้าซื้อกิจการของบริษัท เมอร์ฟี่ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา รวมทั้ง การเข้าซื้อสัดส่วนการถือหุ้น 33.8 % ในบริษัท อพิโก แอลแอลซี จากบริษัท เทเท็กซ์ ไทยแลนด์

“ปตท.สผ.ได้ทบทวนแผนการลงทุนของปี 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนงานต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากความสำเร็จดังกล่าว โดยปรับประมาณการรายจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 3,577 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 116,246 ล้านบาท จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ที่ 3,256 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ เทียบเท่า 107,453 ล้านบาทอย่างไรก็ตาม ประมาณการรายจ่ายนั้นไม่รวมรายจ่ายในการเข้าซื้อกิจการอีกประมาณ 2,086 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเท่า 67,795 ล้านบาท”

สำหรับแผนการลงทุน 5 ปี (2562-2566) ปตท.สผ. ได้ปรับประมาณการรายจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 21,354 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเท่า 685,143 ล้านบาท จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ที่ 16,105 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเท่า 525,055 ล้านบาท

โดยจากแผนงานและการดำเนินงานดังกล่าว ส่งผลให้ ปตท.สผ. ปรับเพิ่มปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ย (Average petroleum sales volume) ในปี 2562 ขึ้นเป็น 345,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากเดิมที่ได้คาดการณ์ไว้ที่ 318,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 8.5% สำหรับปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยต่อวันของปี 2562 – 2566 ได้ปรับเพิ่ม โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตแบบทบต้น (Compounding Annual Growth Rate : CAGR) ประมาณ 7%

 

“ในช่วงที่ผ่านมา ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการดำเนินตามกลยุทธ์เชิงรุก Expand โดยสามารถเข้าซื้อกิจการทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ รวมทั้งชนะการประมูลแปลงสัมปทานในต่างประเทศได้ตามแผนที่วางไว้ ต่อจากนี้เราจะให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ Execute โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินการ (Transition of Operations) ของแหล่งเอราวัณ และโครงการอื่น ๆ ที่เราเข้าซื้อกิจการให้เป็นไปอย่างราบรื่น รวมถึงเร่งรัดการสำรวจในโครงการต่าง ๆ ที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับ ปตท.สผ. ในอนาคต” นายพงศธร กล่าว