“สนธิรัตน์” นำทีมพลังงาน ปท. ระดมสมอง-ขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วน

หลังจากรับตำแหน่ง “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เรียกประชุมระดมสมองหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายของกระทรวงพลังงาน นับตั้งแต่วันที่ 20 และ 22 กรกฎาคม 2562 โดยนโยบายหลักมุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และใช้นโยบายพลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและยกระดับราคาสินค้าเกษตร

ตรึง LPG-NGV ต่อ 2 เดือน

โดยมาตรการเร่งด่วนได้ขอให้ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขยายระยะเวลามาตรการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) สำหรับหาบเร่ แผงลอย และการให้ส่วนลดราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับรถโดยสารสาธารณะออกไปอีก 2 เดือน หรือสิ้นเดือน ก.ย. 2562 นี้ จากที่มาตรการเดิมจะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม 2562 หลังจากนั้นจะพิจารณาเพื่อหาความชัดเจนในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและรถสาธารณะ ให้นำไปเชื่อมโยงกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อไป

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงานได้ดำเนินโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีก LPG ภาคครัวเรือน โดยขอให้ ปตท.สนับสนุนวงเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย หาบเร่ แผงลอย โดยล่าสุดเดือน ก.ค. 2562 ปตท.ได้ปรับลดการช่วยเหลือตามการใช้จริง จากเดิมไม่เกิน 150 กก./เดือน เป็นไม่เกิน 75 กก./เดือน โดยอุดหนุนราคา 37.50 บาท/ถัง 15 กก. ซึ่งให้คงแนวทางดังกล่าวไปก่อน 2 เดือน ซึ่งในส่วนนี้ ปตท.ได้มีการสนับสนุนรวมเป็นเงินตั้งแต่ดำเนินมาตรการดังกล่าวนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 รวมทั้งสิ้น 1,936 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กรณีราคา LPG ภาคครัวเรือนที่ยังตรึงไว้ที่ 363 บาท/ถัง 15 กก.หรือไม่นั้น ทางคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จะพิจารณาอีกครั้ง

Advertisment

ส่วนราคา NGV ปัจจุบันเป็นราคาลอยตัวที่ 15.88 บาท/กก. โดยมติ กบง. 19 เม.ย. 2562 ยังกำหนดให้ ปตท.อุดหนุนราคา NGV สำหรับรถสาธารณะต่อไป แต่เป็นการลดการอุดหนุนลง โดยให้ทยอยปรับขึ้นราคา NGV 3 บาท/กก. จากเดิมจำหน่ายอยู่ 10.62 บาท โดยทยอยปรับ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 บาท/กก. เริ่มตั้งแต่ 16 พ.ค. 2562, 16 ก.ย. 2562 และ 16 ม.ค. 2563 ซึ่งราคาสุดท้ายจะอยู่ที่ 13.62 บาท/กก. หากเปรียบเทียบกับราคาปัจจุบันแล้ว ปตท.ยังอุดหนุนรถสาธารณะอยู่ที่ 4.62 บาท/กก. และหากขึ้นครบ 3 บาท/กก. ปตท.จะยังคงอุดหนุนที่เกือบ 3 บาท/กก.

ลุ้นรื้อ PDP-รื้อแท่นปิโตรเลียม

ขณะที่กรณีการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมของบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิตและโททาลนั้น นายสนธิรัตน์มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไปจัดทำรายละเอียดการดำเนินงานมาเสนอในสัปดาห์หน้า เช่นเดียวกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP 2018) มอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปวิเคราะห์เชิงลึกว่าควรปรับปรุงรายละเอียดหรือไม่อย่างไร

ปตท.ชงเดินหน้าบี 20 

Advertisment

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เสนอแนวคิดการส่งเสริมพลังงานบนดินจากพืชเกษตร ต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมันที่จะนำมาผลิตไบโอดีเซล และอ้อยที่จะนำมาผลิตเป็นเอทานอล เป็นต้น

8 โรงไฟฟ้า-โซลาร์ลอยน้ำ

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก เปิดเผยว่า กฟผ.รายงานปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วย 1) การดำเนินตามแผน PDP 2018 ซึ่งจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 8 โรง กำลังผลิตตามสัญญารวม 6,150 เมกะวัตต์ 2) การจัดทำโครงการผลิตโซลาร์

ลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งจะนำร่องในพื้นที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาด 45 เมกะวัตต์ 3) การสร้างความเชื่อมโยงระบบสายส่ง เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขายไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน

“เรื่องการปรับปรุงทบทวนแผน PDP 2018 ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอนั้น เป็นโปรเซสที่กระทรวงจะพิจารณา หากได้ข้อสรุปว่าจะมีการทบทวนก็จะแจ้งมาทาง กฟผ.ให้เป็นผู้ดำเนินการต่อ” 

นอกจากนี้ หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 25-26 กรกฎาคมนี้แล้ว นายสนธิรัตน์มีแผนจะนำทีมผู้บริหารลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่เขื่อนที่มีการติดตั้งโซลาร์ในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ ว่าจะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไรด้วย