ภาคีเครือข่ายยื่นขอทบทวนมติสมัชชาสุขภาพ หวังสังคมไทยไร้แร่ใยหิน

10 ภาคีเครือข่ายลงนามเสนอที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พิจารณาวาระทบทวนมาตรการดูแลแร่ใยหินปลายปีนี้ หลังพบปี 58-59 ผู้ป่วยโรคเหตุใยหิน 385 ราย หวังระยะยาวคุมเข้มนำเข้า

ผู้สื่อข่าว ”ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสังคมไทยตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพที่เกิดจากแร่ใยหินไครโซไทล์หรือ Chrysotile asbestos เพิ่มมากขึ้น อันเกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่ร่วมกันรณรงค์ เผยแพร่ ข้อมูลองค์ความรู้ให้กระจายออกไป แต่กลับยังไม่มีการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์

ล่าสุดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2553 ได้มีมติรับรองมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน จนนำไปสู่มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 เมษายน 2554 เห็นชอบตามมติสมัชชาสุขภาพ ทว่า ยังไม่สามารถดำเนินการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ ทั้งยังมีการคัดค้านเรื่องนี้จากบรรดาบริษัทที่ยังใช้อยู่ โดยมีเหตุผลว่าจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุใยหินยังมีจำนวนไม่มาก และสารที่จะใช้ทดแทนก็ยังไม่มีคุณภาพเพียงพอและมีราคาสูง

ขณะที่มีผู้เสียชีวิตจากแร่ใยหินเฉลี่ยปีละ 3 แสนรายทั่วโลก แต่สำหรับประเทศไทยยังมีผู้ป่วยไม่มากพอที่จะยกเลิก ซึ่งขัดกับสิ่งที่ 66 ประเทศทั่วโลกได้ดำเนินการ เพราะแม้แต่ประเทศแคนาดาและบราซิลที่เคยคัดค้านการยกเลิกการใช้และส่งออกแร่ใยหินไครโซไทล์ และเป็นประเทศที่ส่งออกแร่ใยหินรายใหญ่ของโลกก็ยังแบนแร่ใยหินไปแล้วเมื่อปี 2560 และ 2561 ตามลำดับ ส่วนอีก 129 ประเทศ แม้จะยังไม่มีกฎหมายยกเลิก แต่ร้อยละ 80 ของประเทศเหล่านี้ก็มีการใช้น้อยมากหรือแทบจะไม่ใช้เลย

ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ เลขานุการคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นว่าด้วยการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน กล่าวถึงอุปสรรคสำคัญที่ทำให้มตินี้ไม่เป็นจริงว่า เพราะกลุ่มผู้สนับสนุนการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ให้ข้อมูลว่า แร่ใยหินไครโซไทล์ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าแร่ใยหินทุกประเภท รวมทั้งแร่ใยหินไครโซไทล์เป็นสารก่อมะเร็งในคน อีกทั้งไทยนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์จากรัสเซียเป็นอันดับหนึ่ง หากยกเลิกการนำเข้า รัสเซียจะเสียผลประโยชน์ จึงใช้เรื่องการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์เป็นข้อตกลงทางการค้ากับไทยเรื่อยมา

“นี่จึงเป็นที่มาของการประชุมปรึกษาหารือการทบทวนมติ ‘มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยที่ประชุมเห็นพ้องว่าจำเป็นต้องทบทวนมตินี้อีกครั้ง โดยภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง 10 องค์กรจะลงนามให้การรับรองเพื่อเสนอเป็นระเบียบวาระเข้าสู่การพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 ที่กำลังจะจัดขึ้นในช่วงปลายปี”

นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จัดอันดับให้มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินอยู่ในกลุ่มมติที่ควรจะทบทวน เนื่องจากข้อเสนอในมติไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงต้องมีการยกร่างเอกสารข้อเสนอขึ้นใหม่ โดยกระบวนการจะเป็นไปตามขั้นตอนของอนุกรรมการวิชาการที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

“จากการทบทวนรายงานผู้ป่วยโรคเหตุใยหินในฐานข้อมูล Health Data Center (HDC) ของกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ.2558-2559 พบว่ามีการรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุใยหินทั้งสิ้น 385 ราย โดยแบ่งเป็น มะเร็งเยื่อเลื่อม (เมโสเธลิโอมา) 243 ราย พังผืดในปอดจากใยหิน และ เยื่อหุ้มปอดหนาตัวเป็นหย่อม 142 ราย จากการยืนยันความถูกต้องการวินิจฉัยโรคเหตุใยหินพบว่ามีผู้ป่วยโรคเหตุใยหินจริงจำนวนทั้งสิ้น  28 ราย แยกเป็น มะเร็งเยื่อเลื่อม (เมโสเธลิโอมา) 26 ราย และพังผืดในปอดจากใยหิน และเยื่อหุ้มปอดหนาตัวเป็นหย่อมอย่างละ 1 ราย”

ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์กล่าวส่วนการนำเข้าเป็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติรอบใหม่จะมีข้อเสนอที่แตกต่างและยกระดับจากข้อเสนอเดิม แสวงหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะแก้ปัญหา

“มีการพิจารณาข้อเสนอจากมติ 2553 และพิจารณาว่าข้อเสนอใดทำไปแล้ว ข้อเสนอใดทำไม่ได้ และข้อที่ทำไม่ได้จะพยายามพิจารณาแนวทางที่สามารถทำได้ให้มากที่สุด โดยมีข้อเสนอเบื้องต้น ซึ่งต้องรอการจัดลำดับความสำคัญ”

ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ อธิบาย ก่อนเพิ่มเติมถึงการตั้งเป้าหมายไว้ 3 ระยะ โดยในระยะสั้นจะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ประชาสัมพันธ์ให้ องค์กรวิชาชีพ ผู้บริโภค ทราบถึงอันตรายจากแร่ใยหินไครโซไทล์และสารทดแทน
ระยะกลางจะเป็นผลักดันให้หน่วยงานราชการ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบของวัสดุในการก่อสร้างอาคารของหน่วยงาน

ส่วนระยะยาวจะทำการยกเลิกการนำเข้าและใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ ตลอดจนมีแผนการจัดการกับขยะแร่ใยหินไครโซไทล์ที่เหมาะสมต่อไป