จีไอที ชี้ช่องทาง “อัญมณี” ยังเป็นสินค้ามีโอกาสจากเทรดวอร์ ควรเร่งดันส่งออกเพิ่มขึ้น

สถาบันอัญมณีฯ เผยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 6 เดือนพุ่ง 7,244 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 15.21% รับได้อานิสงค์จากการส่งออกทองคำ ที่เพิ่มขึ้นถึง 40.15% ขณะที่ ตลาดอินเดียยังคงมาแรงส่งออก โต 95.14% ปัญหาเทรดวอร์ เชื่อจะช่วยเพิ่มโอกาสส่งออกไปสหรัฐฯ ได้

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่หลายประการ ซึ่งยังคงต้องติดตามสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าอื่นๆ รวมถึงความไม่แน่นอนในการเจรจา Brexit ซึ่งจะส่งผลต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุนโลก รวมถึงค่าเงิน โดยเฉพาะค่าเงินเหรียญสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ทำให้ค่าเงินสกุลอื่นมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น รวมถึงเงินบาท ซึ่งหากค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ากว่าคู่แข่งก็จะทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้ จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการทำประกันความเสี่ยงเอาไว้

ทั้งนี้ สถาบันอัญมณีฯ มองว่า ผลจากสงครามการค้ายังทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนสินค้าจากจีนที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้า แต่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมพร้อม เพราะสหรัฐฯ เข้มงวดกับธุรกิจเครื่องประดับมาก กำหนดให้เปิดเผยข้อมูลแหล่งที่มาของวัตถุดิบทั้งเพชร พลอยสี และโลหะมีค่าอื่นๆ เพื่อป้องกันปัญหาการฟอกเงินและการค้าวัตถุดิบในการผลิตเครื่องประดับเพื่อเป็นแหล่งทุนสนับสนุนเหตุความขัดแย้งและกลุ่มนอกกฎหมาย ซึ่งหากสร้างความเชื่อมั่นได้ ก็จะส่งผลดีต่อการส่งออกที่จะเพิ่มขึ้น

ส่วนช่องทางการทำตลาด ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้า ควบคุมคุณภาพ มาตรฐาน และจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม เพราะในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคามาก และต้องตามพฤติกรรมผู้บริโภคให้ทัน เช่น ชาวมิลเลนเนียลจะชื่นชอบอัญมณีและเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์ เพื่อสะท้อนบุคลิกภาพของพวกเขา และมักซื้อสินค้าจากการแชร์ประสบการณ์ของผู้ซื้ออื่นๆ หรือการซื้อสินค้าตามจากการโฆษณาและอิทธิพลของเซเลบหรือผู้ทรงอิทธิพลในสื่อออนไลน์ เป็นต้น

Advertisment

นางดวงกมล กล่าวอีกว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 6 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 7,244.46 ล้านเหรียญสหรัฐ 15.21% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 228,683.16 ล้านบาท ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.37% หากหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 3,847.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.44% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 121,431.82 ล้านบาท ลดลง 0.31%

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในช่วง 6 เดือนของปี 2562 เพิ่มขึ้น มาจากการส่งออกทองคำ ที่เพิ่มขึ้นถึง 40.15% เพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของราคา หลังจากราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และยังมีความวิตกต่อข้อพิพาททางกาค้าระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกและจีน ทำให้เกิดแรงซื้อทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น

ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญหลายรายการ มีการส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น พลอยสี เพิ่ม 19.76% พลอยก้อน เพิ่ม 276.68% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 11.60% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 13.71% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 6.39% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 3% เศษหรือของที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า เพิ่ม 60.05% ส่วนเครื่องประดับแท้ ลด 10.31% เครื่องประดับเงิน ลด 19.79% เครื่องประดับทอง ลด 6.49% เพชร ลด 8.54% เพชรก้อน ลด 9.87% เพชรเจียระไน ลด 8.41%

สำหรับตลาดส่งออก พบว่า ตลาดอินเดียเติบโตแรงสุด เพิ่ม 95.14% จากการส่งออกสินค้ากึ่งวัตถุดิบและวัตถุดิบอย่างเพชรเจียระไน พลอยก้อน และโลหะเงินได้เพิ่มขึ้น เพราะอินเดียนำเข้าไปแปรรูปเพื่อจำหน่ายและส่งออกต่อ รองลงมา คือ อาเซียน เพิ่ม 50.92% จากการส่งออกไปสิงคโปร์ เวียดนาม และกัมพูชา เพิ่มขึ้น 96.12% ,56.37% และ 44.11% ตามลำดับ โดยสิงคโปร์มีการส่งออกเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า และเครื่องประดับเทียมเพิ่มขึ้น เวียดนาม ส่งออกอัญมณีสังเคราะห์ โลหะเงิน และเพชรเจียระไนได้เพิ่มขึ้น และกัมพูชาส่งออกเพชรเจียระไนได้เพิ่มขึ้น และจีน เพิ่ม 0.18% จากการส่งออกเครื่องประดับเงินเป็นหลัก

Advertisment

ส่วนตลาดที่ยังขยายตัวติดลบ เช่น ฮ่องกง ลด 7.57% สหภาพยุโรป (อียู) ลด 13.06% สหรัฐฯ ลด 3.50% กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ลด 1.48% ญี่ปุ่น ลด 9.89% ประเทศหมู่เกาะแฟซิฟิก ลด 27.83% รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ลด 78.85%