พาณิชย์คิกออฟวอร์รูมนัดแรก วางกรอบทำงานให้ทุกหน่วยงานสรุปก่อนเสนอ กรอ.พาณิชย์ปลายก.ย.62 นี้

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการเป็นประธานการประชุมหารือคณะทำงานรองรับสถานการณ์การค้า (War Room) ครั้งที่ 1/2562 ตามที่คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ซึ่งมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้มอบหมายให้ตั้งวอร์รูม ว่าที่ประชุมได้หารือถึงองค์ประกอบ หน้าที่ความรับผิดชอบ และแนวทางการดำเนินงานของคณะทำงานวอร์รูม ว่าจะมุ่งเน้นมาตรการหรือการดำเนินการที่เกิดผลรวดเร็วในระยะสั้น (3-6 เดือน) และระยะกลาง (1 ปี) ในขณะเดียวกันจะหารือถึงประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ นโยบายระยะยาว เพื่อเสนอให้กับ กรอ.พาณิชย์ ได้ผลักดันการส่งออกต่อไป

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้วางกรอบการทำงานและแนวทางการดูแล ได้แก่ การรับมือสงครามการค้า ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่กันทั้งด้านการรับมือเบี่ยงเบนทางการค้า การรุกตลาดและการส่งออก การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และการลงทุน โดยมีสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เป็นฝ่ายเลขานุการ การส่งเสริมการส่งออก การส่งเสริมตลาดและ SMEs อาทิ การจัดทำกลยุทธ์รายสินค้า รายตลาด รอบ 3 – 6 เดือน การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างเอกชนและทูตพาณิชย์ และการช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงตลาดใหม่หรือการประกันความเสี่ยง โดยมีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นแกนหลัก

การผลักดันค้าชายแดน โดยใช้กลไกคณะกรรมการส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และกรมการค้าต่างประเทศเป็นเลขานุการ เพื่อหารือกับประเทศเพื่อนบ้านหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และปลดล็อคกฎระเบียบหรืออุปสรรคต่างๆ โดยเร็วที่สุด การเจรจา FTA และความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งระดับทวิภาคี พหุภาคี หรือภูมิภาค เช่น RCEP ไทย-ตุรกี ไทย-ปากีสถาน ไทย-ศรีลังกา ไทย-สหภาพยุโรป ไทย-สหราชอาณาจักร โดยมีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก

การอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ การผลักดันให้ National Single Window เสร็จสมบูรณ์ และเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (National Digital Trade Platform) ของภาคเอกชน และการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศ และ สนค. จะเป็นแกนกลางประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กฎหมาย ระเบียบ และมาตรการทางการค้า อาทิ การติดตามและแจ้งเตือนอุปสรรคมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTBs/NTMs) ของกลุ่มประเทศในอาเซียน การแก้ไขปัญหาการค้ากับอินเดียซึ่งใช้พิกัดศุลกากรที่ล้าหลังและไม่ตรงกับไทย ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกรมการค้าต่างประเทศจะช่วยกันดำเนินการ

อย่างไรก็ดี นอกจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ประเด็นอื่นยังมีความไม่แน่นอน กระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออกไทยที่ต้องติดตาม เช่น การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ด้วย ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งหารือและสรุปข้อมูลเพื่อนำเสนอรายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุม กรอ.พาณิชย์ครั้งต่อไปภายในปลายเดือนกันยายน 2562 ต่อไป