EEC เชื่อมสัมพันธ์เจิ้งโจว ปั้น “มหานครการบิน”

ความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (ZAEZ) รัฐบาลจีน และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) รัฐบาลไทย นำการพัฒนามหานครการบินเจิ้งโจว มาเป็นต้นแบบ มหานครการบินภาคตะวันออก (Eastern Aerotropolis) ในพื้นที่ EEC 6,500 ไร่ มูลค่าลงทุน 290,000 ล้านบาท วางพื้นที่ 400 ตารางกิโลเมตร รัศมี 30 กิโลเมตร ครอบคลุมตั้งแต่เมืองพัทยาไปจนถึงระยอง ซึ่งไม่ได้มีเพียงสนามบินอู่ตะเภา แต่จะประกอบไปด้วยพื้นที่เมือง พื้นที่อุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน

โดยแผนความร่วมมือครั้งนี้จะถูกกางออกมาให้เห็นฉายภาพชัดใน 3 เดือนจากนี้ เป้าหมายเพื่อให้ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ได้กลายเป็นขนส่งระดับโลก หรือ “Global Transfer”

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในฐานะประธานเปิดงาน พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ZAEZ และ สกพอ.ว่า มหานครการบินเจิ้งโจว ใช้เวลา 3 ปีในการก่อสร้าง มีเขตสินค้าปลอดอากรที่จะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าอย่างอาหาร ผลไม้ ยา อุปกรณ์การแพทย์ ของไทยไปยังจีน และขยายต่อไปยังยุโรป

และเป็นโอกาสที่จะดึงการลงทุนธุรกิจขนส่ง-คลังสินค้า (cargo) ธุรกิจระบบการจัดการการส่งสินค้า (logistics) เมื่อเกิดโอกาสดังกล่าว การเชื่อมสัมพันธ์การค้าร่วมกันจะยังต้องมีต่อไป ดังนั้นภายในเดือน ต.ค. 2562 นี้ มีกำหนดเดินทางไปยังมณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง เสิ่นเจิ้น และเซี่ยงไฮ้ เพื่อชักจูงนักลงทุน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (เลขาฯ EEC) กล่าวว่า ทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมมือกัน 4 ด้าน คือ 1.การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ ในการพัฒนามหานครการบิน 2.การเชื่อมโยงด้านการขนส่ง ที่ไทยจะเน้นการส่งออกไปที่จีน และจะสามารถเชื่อมต่อไปยังยุโรปได้ 3.ด้านการลงทุนอุตสาหกรรม 4.ความร่วมมือพัฒนาด้านทรัพยากร บุคลากร สถาบันการศึกษา

และเมื่อการลงนาม MOU ได้เกิดขึ้นแล้ว จากนี้จะใช้เวลา 3 เดือน เพื่อให้ทีมทำงานได้กำหนดแผนงานการเชื่อมโยงทั้งการลงทุน การพัฒนา cargo บริษัทและธุรกิจเป้าหมายที่จะดึงมาลงทุน เช่น คาร์โกลักซ์ แอร์ไลน์ สายขนส่งสินค้า ประเทศลักเซมเบิร์ก ธุรกิจ e-Commerce ไอที ขนส่งโลจิสติกส์ กิจการซ่อมเครื่องบิน ซึ่งคาดว่าในเดือน ก.ย.นี้จะได้ผู้ชนะการประมูลโครงการมหานครการบินภาคตะวันออก ที่ขณะนี้เหลือกลุ่ม BBS และ Grand Consortium เพียง 2 ราย

นายหม่า เจี้ยน ผู้อำนวยการเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว กล่าวว่า มหานครการบินแห่งนี้ใช้เวลาในการพัฒนา 3 ปี รองรับผู้โดยสารได้ 27 ล้านคน แบ่งเป็น พื้นที่พักอาศัย/การศึกษา/บริการ พื้นที่ธุรกิจ/อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง พื้นที่ศูนย์กลางคมนาคม/ศูนย์ประชุม มีธุรกิจ cargo ที่ขนส่งสินค้าได้สูงถึง 515,000 ตัน คิดเป็น 60% ของทั้งประเทศ ภายใต้โมเดล 1+1+7 โดยมีการกำหนดเขตศุลกากร (1)+เขตสินค้าปลอดอากร (1)+เพื่อให้มีการนำเข้าสินค้า 7 อย่าง (7) เช่น อาหาร ซีฟู้ด ปศุสัตว์ ผลไม้ ยา อุปกรณ์การแพทย์ มีอุตสาหกรรมที่ลงทุนรอบบริเวณ คือ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่ผลิตสมาร์ทโฟนกว่า 60 บริษัท อย่าง Foxconn, ชีวการแพทย์ ผลิตยารักษาโรคกว่า 70 บริษัท, aviation logistic 36 บริษัท, e-Commerce ถึง 431 บริษัท

นายจอห์น ดี คาร์ซาดา ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนามหานครการบิน กล่าวว่า เจิ้งโจวนับเป็นโมเดลที่สมบูรณ์แบบที่ไทยสามารถนำมาพัฒนาเมืองการบิน EEC ให้สำเร็จได้ โดยมีทั้งศูนย์การศึกษาสร้างนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย อุตสาหกรรมดิจิทัล หุ่นยนต์ ธุรกิจบริการ สอดรับกับการเป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) ที่จะเป็นตัวเชื่อมโยงไทยกับจีน และยังโดดเด่นเรื่องการขนส่ง สำหรับองค์ประกอบโครงการ คือ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (terminal 3) และศูนย์ธุรกิจการค้า (commercial gateway), ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (air cargo) ระยะที่ 2, ธุรกิจซ่อมเครื่องบิน (maintenance repair and over-haul-MRO) ระยะที่ 2, ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบิน ระยะที่ 2 และกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอากาศยาน (free trade zone)