ขึ้นภาษีสรรพสามิตอลหม่าน รัฐตั้งวอร์รูมรับสินค้าตกค้าง

สินค้านำเข้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตตามโครงสร้างใหม่วุ่นหนัก เหตุอัตราจัดเก็บเป็น “ความลับ” ประกาศก่อนวันที่ 16 กันยายนไม่ได้ ส่งผลผู้นำเข้า-ชิปปิ้ง-ตัวแทนออกของไม่สามารถเปลี่ยนสูตรการคำนวณอัตราใหม่ลงในโปรแกรมซอฟต์แวร์ได้ทัน ทำให้ใช้ระบบ e-Customs ผ่านพิธีการศุลกากรไม่ได้ ต้องกรอกแบบฟอร์มด้วย “มือเปล่า” คาดสินค้านำเข้าตกค้างท่าเรือมหาศาลไม่ต่ำกว่า 15 วัน กรมศุลกากรตั้ง “วอร์รูม” พิเศษรับมือเปิดทำการจันทร์ที่ 18 ก.ย.เต็มที่

การประกาศโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่เพียงผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตภายในประเทศเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้นำเข้าสินค้าหลายรายการ ที่จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตจากการจัดเก็บโดยกรมศุลกากรด้วย

กรมศุลฯตั้งวอร์รูมรับมือ

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันจันทร์ที่ 18 กันยายน ซึ่งเป็นวันทำการวันแรกหลังจากภาษีสรรพสามิตใหม่มีผลบังคับใช้ กรมศุลกากรได้ตั้ง “วอร์รูม” ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อช่วยดูแลผู้นำเข้าเกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีการศุลกากรที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายนนี้เป็นต้นไป โดยก่อนหน้านี้กรมศุลกากรได้เชิญผู้ประกอบการนำเข้าและตัวแทนออกของ (ชิปปิ้ง) รวมกว่า 400 ราย เข้ามาประชุมหารือถึงแนวการปฏิบัติรอบหนึ่งแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้ยังค่อนข้างกังวลกับแนวทางปฏิบัติในการผ่านพิธีการศุลกากรอยู่

“เนื่องจากอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ก่อนจะถึงวันที่ 16 กันยายนนี้ ยังเป็นความลับอยู่ เพื่อป้องกันการกักตุน ดังนั้น ทางกรมสรรพสามิตจะมีการใส่ข้อมูลภาษีใหม่เข้าระบบในช่วงวันที่ 16-17 กันยายน และเมื่อเปิดมาวันจันทร์ที่ 18 กันยายนก็จะต้องเริ่มดำเนินการเลย ทางกรมศุลกากรพิจารณาดูแล้ว พบส่วนที่จะยังอินเตอร์เฟซระบบไม่ได้ ดังนั้นการผ่านพิธีการศุลกากรก็จะต้องใช้แมนวลไปก่อน เพราะเราไม่สามารถทดสอบระบบได้ เพื่อที่จะได้ปล่อยของ (สินค้า) ออกไปได้ นี่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมสรรพสามิตกับกรมศุลกากร” นายกุลิศกล่าว

ทั้งนี้ วอร์รูมที่ตั้งขึ้นมา นอกจากจะมีเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรแล้ว ยังจะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักมาตรฐานพิธีการศุลกากร สำนักพิกัดศุลกากร และด่านศุลกากรหลัก 5 ด่าน คือ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด่านลาดกระบัง และสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ (ท่าคิงคอง, สมุทรปราการ) และเจ้าหน้าที่จากกรมสรรพสามิตเข้ามาร่วมด้วย เพื่อทำหน้าที่ดูแลและตอบคำถามว่า ใครมีปัญหาอุปสรรคอะไร การจ่ายภาษีใหม่จะต้องดำเนินการอย่างไร รวมไปถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ราคาขายปลีกแนะนำด้วย

จากปัจจุบันสินค้าที่กรมศุลกากรเป็นผู้จัดเก็บภาษีแทนกรมสรรพสามิต จะได้แก่ สุรา ยาสูบ ไวน์ เบียร์ รถยนต์ น้ำอัดลม หัวเชื้อต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งคิดเป็นมูลค่าภาษีที่จัดเก็บแทนตกปีละราว 100,000 ล้านบาท หรือจัดเก็บอยู่ที่ประมาณ 9,200 ล้านบาทต่อเดือน โดยในช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2560 (1 ต.ค. 2559-31 ส.ค. 2560) กรมศุลกากรมีการจัดเก็บภาษีแทนกรมสรรพสามิตไปแล้ว จำนวน 91,877 ล้านบาท ซึ่งหลัก ๆ มาจากสินค้าประเภทรถยนต์ สุรา ไวน์ และยาสูบ

คลังแจงอัตราภาษีสุรา-ยาสูบ

ก่อนหน้านี้ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามโครงสร้างอัตราใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีสุรา-เบียร์ว่า จะเก็บทั้ง 2 ขา กล่าวคือ เก็บตามมูลค่าและเก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์ โดยเพิ่มน้ำหนักจัดเก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์มากขึ้น จากเดิมที่เน้นเก็บด้านมูลค่ามากกว่า แต่ยืนยันว่าภาระภาษีจะไม่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนภาษีไวน์ การจัดเก็บในฝั่งมูลค่าจะ “ยกเว้น” ให้ไวน์ที่ราคาขวดละไม่เกิน 1,000 บาท หากราคาไวน์สูงกว่า 1,000 บาท ก็จะต้องเสียอัตรา 10% ของมูลค่า พร้อมกับคำนวณรวมกับการจัดเก็บฝั่งปริมาณ ที่จะเก็บที่ 1,500 บาทต่อลิตรจากแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ด้วย “ภาษียาสูบก็จะเก็บทั้งตามมูลค่าและปริมาณรวมกัน โดยฝั่งปริมาณจะคิดที่ 1.20 บาทต่อกรัม

ส่วนฝั่งมูลค่าจะลดจากเดิมที่เก็บ 90% แต่แยกเป็น ยาสูบที่ราคาไม่เกิน 60 บาทต่อซอง เก็บ 20% ส่วนยาสูบที่ราคาเกิน 60 บาทต่อซอง จะเก็บอัตรา 40% เป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นจะเก็บที่ 40% เท่ากันหมด” นายวิสุทธิ์กล่าว

ชิปปิ้งชี้หลัง 18 ก.ย. วุ่นหนักแน่

ด้านนายเลิศชาย พงษ์โสภณ นายกสมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาตไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาษีสรรพสามิตที่จะจัดเก็บจากสินค้านำเข้าผ่านทางกรมศุลกากร หลังวันที่ 18 กันยายน ทางด้านผู้นำเข้า-ผู้ส่งออก-ชิปปิ้ง “คงจะมีปัญหาติดขัดวุ่นวายแน่” เนื่องจากกฎหมายใหม่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก โดยเฉพาะการใช้ ราคาขายปลีกแนะนำ เข้ามาคำนวณ ซึ่งยังไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้ว ผู้ขายจะนำราคาไหนมาคำนวณ เพราะการขายมีหลายทอด ทั้งขายส่ง-ขายปลีก ดังนั้นเอกสารที่ผู้ประกอบการสำแดงจะถูกต้องหรือไม่ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรเองมีความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างใหม่ดีพอหรือยัง

ด้านนายวัชริศน์ วิศิษฏ์วงศ์ อุปนายกฝ่ายประสานงานภาครัฐ และเอกชน สมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาตไทย กล่าวว่า ระเบียบใหม่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตออกมากระชั้นชิดมาก ทำให้ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการคำนวณภาษีสรรพสามิตต้องให้ทางโปรแกรมเมอร์มาอัพเดตใหม่ ขณะที่บริษัทผู้นำเข้า-ผู้ส่งออกมีจำนวนมาก หากพิจารณาเฉพาะบริษัทตัวแทนออกของ หรือชิปปิ้ง ที่ติดตั้งโปรแกรมเอง มีประมาณ 20,000 บริษัททั่วประเทศ เฉพาะในเขตกรุงเทพฯมีบริษัทชิปปิ้งใหญ่ ๆ ประมาณ 4,000-5,000 บริษัท “ซึ่งไม่น่าจะติดตั้งโปรแกรมคำนวณภาษีสรรพสามิตใหม่นี้ได้ทัน”

เนื่องจากบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับกรมศุลกากร มีอยู่ประมาณ 13 บริษัท ขณะที่จำนวนผู้ใช้เป็นหลัก 10,000 ขึ้นไป ทางสมาคมคาดว่า การจัดเก็บภาษีใหม่จะกระทบต่อสินค้านำเข้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ที่จะต้องเปลี่ยนสูตรและซอฟต์แวร์ในการคำนวณ รวมเวลาติดตั้งโปรแกรมใหม่ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1-2 สัปดาห์แน่นอน โดยความล่าช้าที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อผู้ใช้บริการมีภาระค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บรักษาสินค้าในโกดังเพื่อรอการผ่านพิธีการศุลกากรและออกของท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง หรือท่าเรือเอกชน เป็นราคาค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นภาระที่มหาศาลมาก

ทั้งนี้ ปัญหามาจากอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ เป็น “ความลับ” เพราะหน่วยงานราชการกลัวว่าจะเกิดการเก็งกำไรสินค้า ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่สามารถทราบได้ว่า ตัวเลขทางเทคนิคจะเปลี่ยนไปแนวไหนและอย่างไร รายละเอียดที่ออกมาก็ค่อนข้างกระชั้นชิด ขณะที่ผู้นำเข้า-ส่งออกส่วนใหญ่จะจ้างตัวแทนออกของ หรือชิปปิ้ง เป็นผู้ปฏิบัติด้วยการส่งข้อมูลไปยังกรมศุลกากร ผ่านทางระบบ e-Customs ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขการคำนวณ

“หลังวันที่ 18 กันยายน การทำใบขนสินค้าการคำนวณต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องนำมาคำนวณด้วยมือ จะทำให้มีปัญหาในทางปฏิบัติเกิดขึ้นแน่นอน” นายวัชริศน์กล่าว

เหล้าไวน์ทยอยออกของ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังบริษัทผู้นำเข้าและจำหน่ายสุรา-ไวน์จากต่างประเทศหลายรายแจ้งว่า ตลอดช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา บริษัทได้ทยอยนำสินค้าออกจากท่าเรือเป็นระยะ ๆ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่รัฐบาลประกาศปรับอัตราภาษีสรรพสามิตสูงขึ้น และปัญหาที่จะเกิดจากการออกของในช่วงอัตราใหม่ เพราะการนำสินค้าออกในช่วงก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ (16 กันยายน) ผู้ประกอบการจะเสียภาษีในอัตราเดิม คาดว่าสินค้าที่ทยอยนำออกมาน่าจะมีมากพอที่จะทำตลาดไปได้อีก 1-2 เดือน ซึ่งเพียงพอกับการรอให้ตลาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติ “การทยอยเคลียร์เหล้า เบียร์ ไวน์ ออกจากท่าเรือ ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่รัฐบาลประกาศขึ้นภาษี” ผู้นำเข้ารายหนึ่งกล่าว

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง “ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว” ร้านค้าปลีกโชห่วยและคอนวีเนี่ยนสโตร์ ต่างก็ทยอยสั่งออร์เดอร์สินค้าไปสต๊อกไว้จำนวนหนึ่งเช่นกัน เนื่องจากช่วงนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่จะทำกำไรจากสินค้าที่สต๊อกไว้ได้

ล่าสุดจากการสำรวจของผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” พบว่า หลังจากที่มีกระแสการปรับขึ้นราคาเหล้า-บุหรี่ ทำให้ผู้บริโภค ร้านค้าปลีก สถานบริการหลายแห่ง ตื่นตัวกับการตุนสต๊อกสินค้าเพิ่มขึ้น โดยช่องทางของร้านสะดวกซื้อบางสาขาได้จำกัดจำนวนการซื้อบุหรี่ได้คนละไม่เกิน 2 ซอง และนำป้ายราคาเหล้าที่ติดไว้บริเวณเชลฟ์หลังเคาน์เตอร์คิดเงินออกไปแล้ว ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งไม่มีบุหรี่จำหน่าย โดยแจ้งว่า “สินค้าหมด”

ด้านผู้นำเข้าเครื่องสำอางรายหนึ่งกล่าวว่า สินค้าของบริษัทที่เข้าข่ายการเสียภาษีสรรพสามิตในปัจจุบันมีเพียงกลุ่มน้ำหอมเท่านั้น โดยเสียในอัตรา 15% ตามมูลค่าสินค้า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภาษีใหม่จะไม่ได้ส่งผลกระทบกับสินค้ากลุ่มดังกล่าวมากนัก อีกทั้งสัดส่วนรายได้ที่มาจากกลุ่มนี้ก็มีไม่มาก การนำเข้าสินค้าในช่วงนี้จึงออร์เดอร์ไปตามปริมาณปกติที่คาดการณ์เอาไว้เช่นเดิม ส่วนสินค้ากลุ่มอื่น ๆ เช่น เมกอัพ สกินแคร์ จะเสียเฉพาะภาษีนำเข้าระหว่าง 20-30%