“แล้ง” สะเทือนครัว ค้าภายในรับมืออาหารแพง สถานการณ์ภัยแล้งปี 2563

เริ่มส่งสัญญาณรุนแรงกว่าปีก่อน ด้วยปริมาณน้ำในเขื่อนหลักเหลือต่ำกว่า 50% ซึ่งอาจจะกระทบผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะพืชที่ใช้น้ำปริมาณมากอย่างข้าว ผัก ผลไม้ รวมถึงสินค้าปศุสัตว์ และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้วางมาตรการรับมือปัญหาผลกระทบจากภัยแล้งส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า โดยจะติดตามประเมินสถานการณ์ภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าและวัตถุดิบ รวมถึงปัญหาการกักตุนและการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการ เช่น ส่งเสริมการเพาะปลูกพืชระยะสั้นที่ใช้น้ำน้อยเข้ามาทดแทน และวางกลไกในการช่วยลดภาระค่าครองชีพ

ทั้งนี้ จากการติดตามผลกระทบภัยแล้งขณะนี้พบว่า มีสินค้าหลายรายการที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น ปริมาณผลผลิตนาปรังจะลดลงจาก 8 ล้านตัน หรือ 3.5-4.0 ล้านตัน ส่งผลให้มีราคาปรับขึ้นราคาตันละ 1,000 บาท เช่น ข้าวเปลือกเจ้าจาก 8,000 บาท เป็น 9,000-10,000 บาทต่อตัน

อย่างไรก็ตาม ยังต้องประเมินสถานการณ์ใน 2-3 เดือนจากนี้ ส่วนสินค้าผักสด ผลไม้บางชนิดที่ใช้น้ำในการเพาะปลูก เช่น กลุ่มผักใบ ผักชี คะน้า และกลุ่มมะนาว คาดว่าจะปรับราคาสูงกว่าที่ผ่านมาดังนั้น ขอให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคาร ซื้อมะนาวช่วงนี้เก็บแช่แข็งไว้ใช้ช่วงหน้าแล้งนี้ สำรองไว้ใช้ก่อน

ส่วนราคาปาล์มน้ำมันปรับสูงขึ้นจากปีก่อน โดยราคาผลปาล์มสด กก.ละ 6-7 บาท จากปีก่อน กก.ละ 2.50-3 บาท และน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) กก.ละกว่า 35 บาท จาก กก.ละ 16-18 บาท ซึ่งได้ขอความร่วมมือให้จำหน่ายในระดับราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนเดิม ขวดละ 42-45 บาท

Advertisment

ขณะที่ราคาปศุสัตว์โดยเฉพาะสุกร มักจะพบว่าเมื่ออากาศร้อนทำให้สุกรโตช้า ประกอบกับเกิดปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกันระบาดในจีน เวียดนาม และลาว จึงทำให้ราคาหมูมีชีวิตมีแนวโน้มสูงขึ้นในประเทศที่เกิดการระบาด เช่น จีน กก.ละ 200 บาท เวียดนาม กก.ละ 120 บาท

ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการระบาดของโรค ยังจำหน่ายในราคา กก.ละ 75 บาท ทางกรมได้หารือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ขอความร่วมมือให้รักษาระดับราคาไว้ที่ กก.ละ 75-80 บาท หากราคาเกินกว่า กก.ละ 80 บาท อาจจะมีการพิจารณาใช้มาตรการจำกัดการส่งออก เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอ และราคาไม่สูงเกินไป

ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญอย่างน้ำดื่ม ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าปัญหาภัยแล้งจะทำให้น้ำดื่มราคาสูงขึ้นหรือเกิดการกักตุนนั้น จากการตรวจสอบขณะนี้ สถานการณ์ราคาน้ำดื่มบรรจุขวดยังอยู่ในภาวะปกติ จำหน่ายขวดละ 5-10 บาท

“กรมเชื่อว่าภัยแล้งจะไม่รุนแรงจนทำให้ขาดแคลนน้ำมาผลิตน้ำดื่ม หรือเหตุผลให้ต้องปรับขึ้นราคา ขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างพยายามเร่งแก้ปัญหาโดยเฉพาะการขุดบ่อน้ำบาดาล การหาแหล่งน้ำใหม่ ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของได้ ไม่ต้องปรับขึ้นแน่นอน”

Advertisment

นายวิชัยกล่าวสรุปว่า กรมมีแนวทางลดความเดือดร้อนให้กับประชาชน แต่เบื้องต้นจะกำหนดมาตรการขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้จำหน่ายสินค้าในราคาเหมาะสมสอดรับกับต้นทุน แต่หากจำเป็นจะใช้กลไกร้านค้าธงฟ้าเป็นช่องทางช่วยเหลือบรรเทาค่าครองชีพ ปัจจุบันมีร้านค้า 102,000 ร้านค้า หากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น จะใช้ร้านธงฟ้าเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าราคาถูก

ส่วนการดูแลสินค้าควบคุมขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ราคาสินค้า ก่อนจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณาว่าดำเนินการเพิ่มหรือถอดสินค้าจากควบคุมต่อไป