สทนช.กัดฟันสู้แล้งยาว 3 เดือน 6 โครงการน้ำ 29,000 ล้านรองบปี”64

หวั่นงบประมาณปี”63 ลากถึงปี”64 กว่า 6 โครงการน้ำ 2.9 หมื่นล้านบาทเคว้ง สทนช.เร่งเครื่องโครงการน้ำทุกขนาดทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำ เพิ่มน้ำต้นทุน พร้อมลุยต่อแผนน้ำปี”65 อีก 33 โครงการ 4 แสนล้าน ล่าสุด MOU แบ่งน้ำอ่างประแกดช่วยเสริมอีอีซีเฉพาะกิจ 10 ล้าน ลบ.ม.

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่าการพิจารณางบประมาณปี 2563 ยังไม่แล้วเสร็จ หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อโครงการต่าง ๆ ทำให้ล่าช้านั้น สทนช.ยืนยันไม่ส่งผลกระทบเนื่องจากโครงการน้ำส่วนใหญ่เป็นการลงทุนระยะยาว รัฐบาลยอมรับว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกหารือให้เร่งพิจารณาให้มีการเร่งรัดเดินหน้าโครงการแหล่งน้ำสำคัญเพื่อการบริหารจัดการน้ำบรรเทาภัยแล้งและน้ำท่วมให้เร็วยิ่งขึ้น

โดยโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่เสนอขอรับงบประมาณปี”64 มีทั้งสิ้น 6 โครงการ วงเงิน 29,850 ล้านบาท โดยเสนอขอ 6,303 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 0.18 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำ 122 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันได้คัดเลือกขนาดกลางขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำตอบสนองมากกว่า 1,000 ล้าน ลบ.ม.ที่จะให้มีการเร่งรัด ประกอบด้วย 1.โครงการขุดลอกแม่น้ำยม แม่น้ำชี รวมจำนวน 17 แห่ง และจะมีแหล่งเก็บน้ำขนาดกลางที่จะเกิดขึ้น

ปี 2564 ที่อยู่ระหว่างการศึกษาสิ่งแวดล้อมและการทำประชาพิจารณ์แล้วเสร็จ ประกอบด้วย 2.ปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย อุตรดิตถ์ 3.อ่างเก็บน้ำลำรูใหญ่ จ.พังงา อยู่ระหว่างเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ 4.ปรับปรุงขยาย กปภ.พังงา-ภูเก็ต 5.โครงการแก้น้ำท่วมลุ่มน้ำเพชรบุรี 6.โครงการแก้น้ำท่วมชุมพรที่อยู่ระหว่างเสนอ ครม.

นอกจากนี้ ยังได้หารือให้เร่งรัดโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่คงค้างในช่วง 3 ปี รวมปี 2563 (ปี 2561-63) ที่ผ่านมาให้เสร็จสิ้นตามแผน รวมทั้งสิ้น 18 โครงการ (กราฟิก) วงเงิน 100,616 ล้านบาท พื้นที่ได้รับประโยชน์ 1.06 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 462 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นโครงการแก้ปัญหาแล้ง 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.การฟื้นฟูบึงราชนก จ.พิษณุโลก 2.การพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ 3.แผนปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาบ้านฉาง (รองรับ EEC) 4.การปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู 5.อ่างเก็บน้ำลำสะพุง-ลำน้ำชี จ.ชัยภูมิ

ส่วนโครงการแก้น้ำท่วม ประกอบด้วย 6.คลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 7.การฟื้นฟูพัฒนาคลองเปรมประชากร กทม. 8.อุโมงค์ระบายน้ำ 3 แห่ง กทม. 9.โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย 10.โครงการการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย 11.โครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ จ.สกลนคร แผนบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ ระยะที่ 1

“จะเห็นว่างบประมาณส่วนใหญ่จะเทไปที่แหล่งน้ำขนาดใหญ่ กลาง และปีนี้ 2563 จะมีการของบประมาณเพิ่มเพื่อเร่งรัดพื้นที่พิษณุโลก พิจิตร เพื่อแก้ปัญหาแหล่งน้ำมากขึ้น ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานปี 2563-64 จะเพิ่มความเข้มข้น ให้แก้ไขปัญหาที่ทันท่วงที เนื่องจากที่ผ่านมาต้องรอการพิจารณาหลายขั้นตอน ซึ่งแม้บางโครงการเม็ดเงินลงทุนเรื่องน้ำมีไม่มากนัก แต่จะมีโครงการสำคัญและมีนัยขับเคลื่อนปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมที่ไม่ใช่ปีต่อปี แต่หมายถึงโครงการขนาดใหญ่เข้าไปช่วยแก้ขนาดเล็ก คือ แหล่งน้ำชุมชน และโครงการลงทุนภาครัฐ เช่น ประมาณ 9-10 ปีหากไม่เพียงพอจะไม่มีการเพิ่มแต่จะบีบหรือร่นระยะเวลาให้เร็วขึ้นเป็น 4-5 ปี”

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทุกโครงการต้องผ่านความเห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณา แผนงาน โครงการ แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2564 โดยกำหนดใช้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นกรอบการจัดทำแผนและทำงานร่วมกันมากกว่า 1 หน่วยงาน และต้องแบ่งลักษณะการบูรณาการออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.area based บูรณาการเชิงพื้นที่ เช่น เป็นโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ 2.project based บูรณาการงานในลักษณะโครงการที่เป็นงานที่ต้องทำร่วมกันทั้งระบบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งโครงการร่วมกัน และ 3.agenda based บูรณาการเชิงนโยบาย เป็นรูปแบบโครงการที่มีนโยบายหรือประเด็นสำคัญที่หน่วยงานต้องร่วมกันดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย เช่น เกษตรแปลงใหญ่อีกด้วย

แหล่งข่าวกรมชลประทาน กล่าวว่า ล่าสุดได้มีการประชุมเกี่ยวกับแผนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สามารถเร่งรัดดำเนินการได้ตั้งแต่ปี 2565 รวมทั้งสิ้น 33 โครงการ วงเงิน 445,850 ล้านบาท มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 5.85 ล้านไร่ สามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้ถึง 4113 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมี 9 โครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างเร่งออกแบบ ทบทวน และศึกษา ประกอบด้วย 1.โครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล 2.โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล จ.ตาก 3.โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกิ จ.น่าน 4.โครงการผันน้ำป่าสัก จ.นครราชสีมา 5.โครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ชลบุรี 6.โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกอน จ.น่าน 7.คลองระบายชัยนาท-ป่าสัก 8.คลองระบายป่าสัก-อ่าวไทย และ 9.อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด จ.สมุทรสาคร

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 63 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ จ.ชลบุรีเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก และร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ระหว่างกรมชลประทานและคณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาคลองวังโตนด เพื่อแบ่งปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด จ.จันทบุรี ให้แก่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง เป็นการเฉพาะกิจช่วงแล้งนี้ ปริมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากน้ำต้นทุนเหลือน้อย จากคาดการณ์ปริมาณฝนระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 ที่อาจมีน้อยกว่าค่าเฉลี่ยและจะมาล่าช้ากว่าปกติ

ขณะที่ในอ่างเก็บน้ำคลองประแกดปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่าง 49.62 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมีปริมาณเพียงพอสำหรับส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์โดยรอบจนสิ้นสุดฤดูแล้งในปลายเดือนพฤษภาคม 2563 และยังมีปริมาณน้ำที่เหลือที่สามารถระบายลงคลองวังโตนดและเดินเครื่องสูบที่สถานีสูบน้ำคลองวังโตนดผันน้ำมาลงอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้อีก จากเดิมที่เคยระบายวันละ 180,000 ลบ.ม. ก็เพิ่มขึ้นอีกวันละ 460,000 ลบ.ม. รวมระบายวันละ 648,000 ลบ.ม. เพื่อเป็นปริมาณน้ำต้นทุนช่วยเหลือพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ตลอดฤดูแล้งปีนี้