กนช.ทบทวน “แผนน้ำ” ลุ้นงบฯกลาง 1.6 หมื่นล้าน

แม้ว่าพายุฤดูร้อนเข้ามาจะส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายจังหวัด แต่สถานการณ์น้ำปีนี้ยังอยู่ในภาวะที่ประมาทไม่ได้ ในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) 20 มี.ค.นี้ จะมีการ “ทบทวน” โครงการน้ำทั้งประเทศ เพื่อเร่งรัดงบฯและอนุมัติแผนงานเร็วขึ้น

ล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2563 ย้ำให้หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรร “งบฯกลาง” แก้ไขปัญหาภัยแล้งระยะเร่งด่วนก่อน เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และหนึ่งในแผนงานที่ต้องเร่งรัด คือ โครงการเร่งด่วน เพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 2563 ให้เสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้

ของบฯกลาง 1.6 หมื่นล้าน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า โครงการนี้จะใช้งบฯ 16,165.55 ล้านบาท รวมทั้งประเทศ 8,308 แห่ง ปริมาณน้ำ 308 ล้าน ลบ.ม. (ดูกราฟิก) เพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝนช่วยพื้นที่่ประสบภัยแล้ง 23 จังหวัด และสวนผลไม้ใน 30 จังหวัด

ทบทวนแผนน้ำ

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมว่าต้องทบทวนเป้าหมายแผนแม่บท “น้ำประปา” (ปีงบฯ 2563-2564) ทั้ง 6 โครงการ มูลค่า 1.1 พันล้านบาท เสนอต่อที่ประชุม กนช. ด้วย จากก่อนหน้านี้ได้พิจารณาให้เพิ่มพื้นที่แหล่งน้ำธรรมชาติ ในโครงการเพื่อการพัฒนา ปี 2563 ผลิตประปาเพิ่มของการประปาส่วนภูมิภาคและแผนหลักการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองครอบคลุม 76 จังหวัด 309 อำเภอ 715 ชุมชน พื้นที่ 10.50 ล้านไร่

18 อ่างใหญ่เสี่ยงน้ำหมด

ขณะที่สถานการณ์น้ำล่าสุด นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปริมาณฝนที่ตกในช่วง 14-15 มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำ 18 แห่งทั่วประเทศรับน้ำเพิ่ม 27.82 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าไม่น้อย แต่สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ “ต่ำ” มีปริมาณน้ำใช้ได้ 14,466 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 31 ของปริมาณน้ำใช้การได้ โดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวม 9,601 ล้าน ลบ.ม.

โดยยังมั่นใจว่ามีน้ำเพียงพอตลอดแล้ง แต่ต้องควบคุมแผนการส่งน้ำสนับสนุนการเพาะปลูกลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้สมดุล โดยเฉพาะจากการพิจารณาสภาพน้ำต้นทุนและการลำเลียงน้ำไปสู่พื้นที่ลุ่มต่ำ พบว่าไม่สามารถสนับสนุนน้ำในพื้นที่ 12 ทุ่งตอนล่างได้ ซึ่งจะพิจารณาเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำเท่านั้นเพราะน้ำต้นทุนน้อย ส่งน้ำทำนา

ได้แค่ 2.6 แสนไร่ จึงจัดสรรน้ำส่วนช่วยเหลือช่วงที่ 1 เดือน มี.ค.-30 เม.ย. ไว้ 65 ล้าน ลบ.ม. และช่วงที่ 2 เดือน พ.ค.-ก.ค. ไว้ 245 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้ทันเก็บเกี่ยวปลายเดือน ส.ค. จากนั้นพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นแก้มลิงธรรมชาติในฤดูน้ำหลากต่อไป

นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ฝนปีนี้จะล่าช้าไปอีก 2 สัปดาห์ แต่ช่วงนี้มีลมมรสุมทำให้ฝนตก จึงต้องมีแผนเก็บน้ำ แม้จะเบาบาง แต่ข้อดีคือเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน