โรงงานอาหาร-ยา-รีเทลร้องสภาอุต ขอรัฐผ่อนพ.ร.ก.ฉุกเฉินขนสินค้า

เอกชนปรับแผนรับมือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 7 สินค้าจำเป็น “อาหาร-ยา-สื่อสาร-ธนาคาร-พลังงาน-เกษตร-ค้าปลีก” ขนส่งต้องไม่สะดุด หวั่นการให้อำนาจจังหวัดใช้ “ดุลพินิจ” ห้ามเคลื่อนย้ายสินค้า-วัตถุดิบ-แรงงานเข้มงวดเกินไปทุบซัพพลายเชนสะดุด กลุ่มยาขอผ่อนปรน 170 โรงงานหลังออร์เดอร์ทะลัก

จากการบังคับใช้ พ.ร.บ.การบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ภาคการผลิตใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศต้องประสานไปยังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อขอให้รัฐบาลช่วย “ยกเว้น” หรือ “อำนวยความสะดวก” ให้กับผู้ผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมที่จำเป็น (essential goods) 7 ประเภท ได้แก่ อาหาร/เครื่องดื่ม, เวชภัณฑ์การแพทย์, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ธนาคาร, ธุรกิจเกษตร, พลังงาน/สาธารณูปโภค และโลจิสจิกส์รวมถึงค้าปลีก สามารถขนย้ายสินค้าและเคลื่อนย้ายแรงงานในอุตสาหกรรมโดยสะดวกเพื่อไม่ให้สายการผลิตขนส่งสินค้าสะดุดและหยุดชะงัก

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมได้ทยอยแจ้งปัญหาอุปสรรคในการผลิตและขนส่งสินค้าจำเป็นเข้ามายัง สอท. อาทิ การมอบอำนาจให้ท้องถิ่นใช้มาตรการเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดทำให้เจ้าหน้าที่ในบางจังหวัด “ใช้ดุลพินิจ” ไม่อนุญาตให้รถขนส่งสินค้าเข้าไปส่งสินค้าในบางพื้นที่ เช่น โรงงานข้ามเขตจังหวัดหรือแรงงานที่อยู่คนละจังหวัดกับโรงงาน หากเจ้าหน้าที่ยิ่งใช้มาตรการเพิ่มมากขึ้นก็จะส่งผลให้สินค้าเกิดการขาดตลาดเป็นวงกว้างการกำหนดระยะเวลาในการปิดถนนหรือเส้นทางขนส่งที่ไม่ชัดเจนทำให้

ผู้ประกอบการไม่สามารถวางแผนขนส่งได้ และปัญหาเกี่ยวกับกฎระเบียบของแรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับมาจากประเทศต้นทางในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ อาจจะทำให้เกิดผลกระทบกับการกลับเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าว จนทำให้โรงงานขาดแคลนแรงงานได้ นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาทางเทคนิคในกรณีที่สินค้าต้องตรวจสอบผ่านห้องปฏิบัติการ “ซึ่งขณะนี้เริ่มมีความแออัดมากขึ้น” ปัญหาการส่งออกสินค้าที่เริ่มได้รับผลกระทบจากการชะลอการส่งมอบ การขอเลื่อนเวลาชำระเงิน ตลอดจนปัญหาการหมุนเวียนตู้ล่าช้าและปัญหาภัยแล้งที่กระทบต่อวัตถุดิบลดลงจากปกติกว่า 50%

โรงงานยาขอผ่อนปรนขนสินค้า

แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมยา กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมยาจำนวน 170 โรงงานได้ส่งเรื่องไปยังประธาน ส.อ.ท. ประสานให้รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการคุมเข้มการเคลื่อนย้ายบุคลากรและสินค้าที่่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาตลอดทั้งซัพพลายเชน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตยา-ผู้นำเข้า-คลินิก-ร้านขายยา-ผู้ส่งยา รวมถึงซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิตสารเคมี-บรรจุภัณฑ์-ผู้ขาย/ซ่อมอุปกรณ์-เครื่องมือวิเคราะห์ ให้สามารถดำเนินธุรกิจเพื่อทำการผลิตขนส่งยาและเวชภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการต่อไปได้ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อตลาดยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งมีมูลค่าปีละ 100,000-200,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการผลิตยาและเวชภัณฑ์ให้กับโรงพยาบาลร้อยละ 80 และจำหน่ายผ่านร้านยาอีกร้อยละ 20

“ที่กังวลกันก็คือ การที่ให้แต่ละจังหวัดออกมาตรการในพื้นที่เองอาจจะทำให้การขนส่งยาสะดุด ทางโรงพยาบาลก็ได้เพิ่มการสั่งซื้อยาไปสต๊อกไว้ล่วงหน้าในทุกรายการ ขณะที่ต้นทางคือ โรงงานผลิตยา ก็ต้องเตรียมพร้อม เพราะหลังจากการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศปิดก็จะกระทบกับวัตถุดิบนำเข้า ส่วนใหญ่โรงงานที่สต๊อกวัตถุดิบอยู่ประมาณ 2-3 เดือน เราต้องเตรียมแผน เพราะวัตถุดิบนำเข้าจากจีนและอินเดีย ซึ่งขณะนี้อินเดียประกาศปิดประเทศไป 21 วัน ส่วนจีนเพิ่งกลับมาเปิดประเทศ แต่เราต้องเตรียมการว่า หากนำเข้าวัตถุดิบทางเครื่องบินไม่ได้ก็ต้องส่งมาทางเรือ ซึ่งจะใช้เวลานานกว่า ส่วนแนวโน้มความต้องการใช้ยาในประเทศยังประเมินยากว่าจะเพิ่มขึ้นมากเพียงใด เพราะทุกโรงพยาบาลต่างตุนสต๊อกก่อนเป็นการสต๊อกเพิ่ม แต่ความต้องการจริงอาจจะไม่เพิ่มก็ได้” แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนในด้านของราคานั้น ทางกลุ่มอุตสาหกรรมยาและสมาคม TPMA ยังให้ความร่วมมือด้วยการ “ตรึงราคา” จำหน่ายสินค้ายาและเวชภัณฑ์ต่อไป

ล่าสุดมีรายงานข่าวเกี่ยวกับยาและเวชภัณฑ์บางชนิด เช่น หน้ากากอนามัย, น้ำยาฆ่าเชื้อ, แอลกอฮอล์ มีปริมาณสินค้าไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดเกิดการขาดแคลนและหาซื้อยาก การสั่งซื้อใช้เวลานานขึ้นและมีราคาสูง ในเรื่องนี้ยอมรับว่า มีผู้ผลิตบางรายปรับราคาขึ้นไปแล้ว เช่น แอลกอฮอล์ทางการแพทย์ ปรับขึ้นไปแล้วเกินกว่า 2-3 เท่าหรือจากขวดละ 50 เป็นขวดละ 300 บาท เพราะโรงงานผู้ผลิตยังแก้ปัญหาเรื่องวัตถุดิบผลิตแอลกอฮอล์ไม่ได้

53,000 โรงงานผลิตสินค้าปกติ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มโรงงานผู้ผลิตอาหารในประเทศไทยกว่า 53,000 โรงงานยังสามารถเดินเครื่องผลิตและส่งมอบสินค้าได้ โดยแต่ละโรงงานต้องวางระบบป้องกันความปลอดภัยของตนเอง เริ่มจากคนขับและผู้ติดตามต้องไม่มีประวัติเสี่ยงในช่วงย้อนหลังไป 7 วัน ต้องมีหน้ากากอนามัยและขนส่งสินค้าห้ามค้างคืน “ตอนนี้ยังไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์” แต่จะต้องนำเอกสารการส่งมอบสินค้าไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ แต่มีความเป็นไปได้ว่า การเพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะทำให้ใช้เวลานานในการตรวจสอบ มีผลทำให้การขนส่งสินค้าแต่ละเที่ยวกินเวลานานเช่นกัน โดยทางผู้ประกอบการค้าปลีกก็ได้ปรับเพิ่มปริมาณการสต๊อกและเพิ่มปริมาณการขนส่งต่อเที่ยวให้มากขึ้น ส่วนกลุ่มร้านอาหารได้รับผลจากมาตรการที่เข้มงวดขึ้นส่วนใหญ่หันไปขายอาหารผ่านช่องทางฟู้ดดีลิเวอรี่ไปแล้วมากกว่า 50%

“ถ้าให้ประเมินสถานการณ์วัตถุดิบ ขณะนี้ทางสมาคมยังมองว่าสินค้าเกษตร อาหารและอาหารสำเร็จรูปของไทยจะไม่ขาดแคลน เพราะไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าอาหาร เราขายในประเทศมากกว่าส่งออก ดังนั้นยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการห้ามส่งออกสินค้าอาหาร เพราะถ้ารัฐบาลบล็อกส่งออกจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรต้องเดือดร้อนแน่ ๆ” นายวิศิษฐ์กล่าว

ขณะที่นายภคิน ชลรัตนหิรัญ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในภาคขนส่งเอกชนมีความกังวลว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะมีผลต่อการหยุดเดินรถจนกระทบภาคการผลิต แต่ล่าสุดรัฐบาลยืนยันแล้วว่า จะไม่มีการหยุดภาคการขนส่ง

หยุดทุกโหมดการเดินทาง

นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า ปัจจุบันเส้นทางวิ่งและผู้โดยสารรถ บขส.และรถร่วม บขส.ลดลง 30-40% ซึ่งได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการเดินรถหยุดวิ่งบริการ ซึ่งทุกบริษัทก็พร้อมให้ความร่วมมือ เช่น นครชัยแอร์ เชิดชัยทัวร์ สมบัติทัวร์ กรีนบัส ที่หยุดวิ่งในบางเส้นทางแล้ว เพราะผู้โดยสารน้อย จากการจัดที่นั่งเว้นระยะห่างทางสังคม ขณะเดียวกันได้ปิดจำหน่ายตั๋วไปถึงวันที่ 30 เม.ย.นี้

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า หลังรัฐประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทุกระบบลด 65% ได้แก่ บีทีเอสอยู่ที่ 2.2 แสนเที่ยวคน/วัน รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงอยู่ที่ 148,000 เที่ยวคน/วัน แอร์พอร์ตลิงก์อยู่ที่ 23,000 เที่ยวคน/วัน และรถไฟอยู่ที่ 25,000 เที่ยวคนต่อวัน เนื่องจากคนทำงานที่บ้านและงดการเดินทางเลี่ยงไวรัสโควิด-19

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ปัจจุบันการเดินทางลดลงทุกโหมด ผลพวงจากไวรัสโควิด ล่าสุดรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯได้รับแจ้งว่ามีหยุดวิ่งแล้ว 30,000 คัน จากในระบบ 80,000 คัน ด้านถนนทางหลวงรอบกรุงเทพฯ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวว่า ปริมาณการจราจรลดลด 25% ขณะที่มอเตอร์เวย์ก็ลดลงเช่นกัน