“บิ๊กธุรกิจ” ระดมชงแผนออกจาก “ล็อกดาวน์” รีสตาร์ตธุรกิจ

จากที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจเอกชน” ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) โดยประธานสภาธุรกิจ 8 แห่ง เพื่อร่วมให้คำปรึกษา เสนอแนะ ป้องกันและแก้ปัญหาของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบของโควิด-19 โดยรายชื่อนักธุรกิจที่เข้าไปเป็นคณะที่ปรึกษา มีทั้ง นายกลินท์ สารสิน, นายสุพันธุ์ มงคลสุธี, นายปรีดี ดาวฉาย, นายไพบูลย์ นลินทรางกูร, นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์, นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร และนายศุภชัย เจียรวนนท์ พร้อมด้วยภาครัฐอย่าง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นต้น

12 ข้อเสนอภาคเอกชน

ในการประชุมนัดแรกเมื่อ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษา สรุปว่า ที่ประชุมได้มีการหารือข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนที่สำคัญ 12 ข้อ ดังนี้ 1.ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศ 2.เอกชนสามารถนำค่าใช้จ่ายสำหรับป้องกันโควิด-19 มาหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า 3.ขอให้รัฐออกคำสั่งปิดกิจการโรงแรม เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม 4.ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ปีภาษี 2562-2563 กรณี SMEs ไม่เกิน 10%, ผู้ประกอบการอื่นไม่เกิน 20% 5.รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงานและซื้อสินค้าจากผู้ผลิตภายในประเทศ, 6.ผ่อนปรนการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี 7.อนุญาตให้จ้างงานเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 40-41 บาท 4-8 ชั่วโมงต่อวัน, 8.ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างเหลือ 1% 9.ช่วยเหลือค่าจ้างภาคเอกชน รัฐจ่าย 50% ของรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาท 10.บริษัทนำค่าใช้จ่ายด้านจ้างแรงงานช่วงโควิด-19 มาหักภาษี 3 เท่า 11.การผ่อนปรนมาตรการเคอร์ฟิวธุรกิจขนส่งสินค้าในเวลากลางคืน และ 12.การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารระหว่างเมืองให้มีมาตรฐานเดียวกัน

ชูบิ๊กธุรกิจนำทีมฝ่าวิกฤต

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีการตั้งคณะทำงาน 5 กลุ่มหลัก เพื่อพิจารณาข้อเสนอต่าง ๆ โดยให้ทีมที่ปรึกษาภาคเอกชนเป็นประธานแต่ละกลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานกลุ่ม 2.กลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ หลัง “ล็อกดาวน์” มีนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานกลุ่ม 3.กลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ประธานกลุ่ม 4.กลุ่มมาตรการเพื่อภาคเกษตร มีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และ 5.กลุ่มมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล มีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เป็นประธานกลุ่ม

เสนอแผนออกจาก “ล็อกดาวน์”

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เบื้องต้นประเมินว่าจะมีตัวเลขคนตกงานประมาณ 7 ล้านคน และหากการแพร่ระบาดยังยืดเยื้อไปอีก 2-3 เดือน จะทำให้มีคนตกงานเพิ่มเป็น 10 ล้านคน ดังนั้น รัฐบาลควรจะต้องเร่งดำเนินมาตรการเยียวยาประชาชน และดูแลภาคธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง

รวมถึงต้องมีการเตรียมเพื่อนำไปสู่การเปิดให้ดำเนินธุรกิจอีกครั้ง ซึ่งจำเป็นต้องวางแผน “recovery plan” ว่าจะมีธุรกิจประเภทใดบ้างที่สามารถกลับมาดำเนินการได้ หลังมาตรการล็อกดาวน์ 30 เม.ย. และต้องมีแผนป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 อีกครั้ง โดยเบื้องต้นก็เสนอให้บางธุรกิจบางกิจการกลับมาเปิดกิจการใหม่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม ซึ่งต้องดูวิธีการว่าจะทำอย่างไร

ชงรัฐช่วยค่าจ้าง 50% แก้ปมเลิกจ้าง 10 ล้านคน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี กล่าวว่า เพื่อดูแลไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง 10 ล้านคน จึงเสนอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยค่าจ้างแรงงานให้ผู้ประกอบการ 50% ของค่าจ้างขั้นต่ำ 15,000 บาท หรือ 7,500 บาทต่อเดือน และผู้ประกอบการจ่าย 25% ขอให้นำไปหักภาษีได้ 3 เท่า ขณะที่ลูกจ้างต้องยอมลดค่าจ้าง 25%

“ถ้ารัฐช่วยจ่ายเงินเดือน ลูกจ้างจะไม่ถูกเลิกจ้างแน่นอน” นายสุพันธุ์กล่าว

ปลดล็อกเงื่อนไขเข้าถึง “ซอฟต์โลน”

สำหรับปัญหาที่ธุรกิจเอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงซอฟต์โลน เพราะธนาคารพาณิชย์ “ไม่กล้า” ปล่อยกู้ นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) สำหรับเอสเอ็มอี ส่วนแรกจากธนาคารออมสิน 1.5 แสนล้าน เนื่องจากมีผู้ต้องการขอสินเชื่อเป็นจำนวนมาก ทำให้การทำงานล่าช้าไปบ้าง ส่วนซอฟต์โลนวงเงิน 5 แสนล้านบาท จาก ธปท. คาดว่า พ.ร.ก.จะออกมาในสัปดาห์หน้า ซึ่งคงต้องรอดูรายละเอียดเพื่อนำมาพิจารณาว่าจะช่วยทำให้ขั้นตอนเร็วขึ้นได้อย่างไร โดยระหว่างนี้ สมาคมแบงก์จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการเข้าถึงวงเงินซอฟต์โลน รวมถึงต้องหารือถึงกฎเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อสำหรับคนที่มีหลักประกัน หรือคนที่มีความสามารถชำระคืนในอนาคตที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อลดปัญหาและทำให้ลูกค้าเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้เร็วขึ้น

ชูดิจิทัลธงนำฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด

ขณะที่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวว่า ข้อเสนอของสภาดิจิทัลฯจะโฟกัสเรื่องการจ้างงาน และการสร้างงานธุรกิจใหม่ ทั้งสตาร์ตอัพที่เป็นอีคอมเมิร์ซ หรือการเรียนการสอนที่จะเข้าถึงคอนเทนต์ รวมถึงการสร้างทักษะใหม่ ๆ ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยดิจิทัลที่ถือเป็นโซลูชั่นใหม่ โดยต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้ง่าย ราคาประหยัด ซึ่งจะเป็นการสร้างพื้นฐานเข้าสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคใหม่ รวมถึงการเชื่อมโยงของตลาดก็จะมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น

นอกจากนี้ นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า องค์การการค้าโลก (WTO) ประเมินว่า อัตราการค้าโลกปีนี้จะติดลบ 30% อาจจะรุนแรงเทียบกับการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อปี 1932 ส่วนผลกระทบต่อการส่งออกนั้น เอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบมากกว่า โดยทางสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯได้เสนอขอให้ภาครัฐพิจารณาแก้ไขกฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกและให้เกิดการใช้ระบบ national trading platform เพื่อรองรับให้เกิดการใช้จริง

ชงเลื่อน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ขณะที่ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ทางสภาได้เสนอให้พิจารณาเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกไป จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะจบลง จากเดิมที่จะเริ่มบังคับใช้วันที่ 27 พ.ค.นี้ เนื่องจากการปรับระบบอาจจะไม่ทัน นอกจากนี้ หากรัฐจะพัฒนาแอปพลิเคชั่นติดตามตัว เพื่อป้องกันการระบาดรอบ 2 กฎหมายตัวนี้จะทำให้ทำงานยาก

เนื่องจากในมาตรการเตรียมให้ธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการใหม่ ต้องมีแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 ซึ่งที่ประชุมมีข้อเสนอให้ยึดแนวทางในต่างประเทศ ที่มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นติดตามตัวที่สามารถเก็บข้อมูลย้อนหลัง 14 วัน เหมือนกับประเทศจีน เพื่อเตรียมพร้อมก่อนการกลับไปเปิดระบบเศรษฐกิจ หลังไวรัสคลี่คลาย จากนั้นต้องพิจารณาว่า เศรษฐกิจส่วนใดควรจะเปิดก่อน/หลัง เช่น ธุรกิจจับจ่ายใช้สอย หรือห้างสรรพสินค้า อาจเปิดได้ก่อน แต่ก็ต้องมาพร้อมมาตรการป้องกัน ส่วนธุรกิจที่มีความเสี่ยง เช่น ธุรกิจบันเทิงต่าง ๆ ก็อาจจะเปิดช้ากว่า เป็นต้น ส่วนธุรกิจท่องเที่ยว รัฐอาจจะต้องดูแลธุรกิจนี้ในระยะยาวมากกว่าธุรกิจอื่น

ทั้งนี้ คณะทำงานทั้ง 5 ชุดจะพิจารณาข้อเสนอทั้งหมด และประชุมหาข้อสรุปในวันที่ 20 เม.ย.นี้ เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป