พาณิชย์จับมือเอกชนตั้งรับส่งออกไก่เนื้อหลังโควิด-19

“จุรินทร์” จับมือเอกชนผู้ส่งออกไก่เตรียมมาตรการส่งออกไว้รองรับ เมื่อโควิด-19 สถานการณ์ดีขึ้น มาตรการแต่ละประเทศผ่อนคลาย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ กลุ่มสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท สหฟาร์ม จำกัด บริษัท Cargil บริษัท GFPT เป็นต้น ว่า ภาครัฐ เอกชนจะร่วมกัน ในการรับมือ เพื่อ”พลิกโควิดเป็นโอกาส” ในการเตรียมการส่งออกในอนาคตเมื่อโควิดหมดไป

สำหรับแนวทางผลักดันที่เอกชนเสนอ เช่น การเร่งเจรจาการค้า FTA ไทย-อียู FTA ไทย-อังกฤษ พร้อมทั้ง ขอให้มีการเจรจาเพิ่มโควต้าส่งออกไปอียูและอังกฤษ เนื่องจากภาษีนำเข้านอกโควต้าสูงถึง 1,024 ยูโรต่อตัน ขณะที่ ภาษีในโควต้า 320 ปอนด์ต่อตัน นอกจากนี้ ให้ขยายตลาดส่งออกไปในตลาดญี่ปุ่น จีน โดยเฉพาะจีนต้องการให้เร่งเข้ามาตรวจโรงงานผลิตซึ่งปัจจุบันได้รับการรับรอง 22 โรงงาน ซึ่งยังคงเหลือ 6 โรงงาน

พร้อมทั้ง การรักษาตลาดเดิมและขยายตลาดใหม่ในการส่งออกไปอีก 19 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เบลเยียม เดนมาร์ก ออสเตรีย สวีเดน อังกฤษ เยอรมัน ฮ่องกง ซาอุดิอาระเบีย จีนฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ UAE ฟิลิปินส์ และไต้หวัน เป็นต้น อีกทั้ง ต้องการให้ช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงด้วย เพราะต้องยอมรับว่าต้นทุนการเลี้ยงของไทยยังสูงกว่าคู่แข่ง อย่างบราซิล และยูเครน อย่างไรก็ดี จากมาตรการผลักดันต่างๆหากทำได้ จะทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มได้อีก 10%

สำหรับปี 2562 การผลิตไก่เนื้อที่ผ่านมา ไทยสามารถส่งออกได้ 900,000 ตัน เป็นมูลค่าประมาณ 109,000 ล้านบาท โดยไตรมาสแรกของปี 2563 สามารถส่งออกได้ 230,000 ตัน เป็นมูลราคา 26,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.21 % ตลาดส่งออกสำคัญของไทย เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลี เป็นต้น

รายงานจากภาคเอกชน ระบุว่า เอกชนคาดการณ์การส่งออกปริมาณผลผลิตไก่เนื้อในปี 2563 อยู่ที่ 990,000 ตัน แต่จากปัจจัยของโควิด-19 ทำให้ผู้ส่งออกอาจจะต้องมีการประเมินตัวเลขการส่งออกใหม่อีกครั้ง และในช่วงไตรมาส 1 แม้การส่งออกจะไม่ได้รับผลกระทบแต่เชื่อว่าการส่งออกในช่วงไตรมาส 2 และ 3 การส่งออกคาดว่าจะชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดหลัก เช่น ญี่ปุ่นและยุโรปโดยเฉพาะยุโรปได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศซึ่งมีผลทำให้การส่งออกลำบากมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้นจะทำให้การส่งออกสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับ มาตรการการผ่อนคลายของแต่ละประเทศ

ส่วนการบริโภคไก่เนื้อภายในประเทศพบว่าปริมาณการบริโภคลดลงเนื่องจากประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยน้อยลงทำให้การบริโภคไก่เนื้อลดลงตามลำดับโดยประเมินว่าการบริโภคลดลงถึง 50% ดังนั้น จึงต้องเตรียมมาตรการรองรับเมื่อสถานการณ์ภายในประเทศดีขึ้น เชื่อว่ากำลังซื้อจะกลับมาเร็วขึ้น