กรรมาธิการเลื่อนสรุปผล CPTPP ออกไปอีก 60 วัน คาดไทยตกขบวนเจรจาปีนี้

กรรมาธิการ (กมธ.) CPTPP มีมติเห็นชอบขอเลื่อนศึกษาผลกระทบการเข้าร่วมสมาชิกของไทย ออกไปอีก 60 วัน เนื่องยังเห็นว่ามีประเด็นต้องศึกษาอีกมาก คาดตกขบวนเจรจาปีนี้

วันที่ 30 มิถุนายน 2563 นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ในฐานะประธานการประชุมพิจารณาศึกษาสรุปผลการวิจัย ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบขอขยายระยะเวลาในการศึกษาการเข้าร่วมสมาชิก CPTPP ของประเทศไทยออกไปอีก 60 วัน หลัง จากที่ทางสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเห็นชอบให้มีการตั้งกรรมาธิการ เพื่อศึกษาในประเด็นดังกล่าวโดยใช้กรอบระยะเวลา 30 วัน ซึ่งใกล้จะครบกำหนดในวันที่ 10 กรกฎาคม 2563

ผลจากการประชุมกรรมาธิการฯและการตั้งอนุกรรมาธิการ 3 คณะขึ้นมาเพื่อศึกษาในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พบว่าระยะเวลาดังกล่าวอาจจะไม่เพียงพอต่อการศึกษาข้อมูลต้องหมดอย่างรอบคอบ ดังนั้น กรรมาธิการฯ จะยื่นเรื่องต่อสภาฯ เพื่อขยายเวลาในการศึกษาออกไป

ทั้งนี้ หลังจากการตั้งอนุกรรมาธิการ 3 คณะฯ ขึ้นมาเพื่อศึกษาในประเด็นหลัก คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านเกษตร และด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของพันธุ์พืช ซึ่งมีผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากและประเทศไทยก็เป็นประเทศเกษตรกรรม และเพื่อศึกษาให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด ทางกรรมาธิการฯ เห็นว่าจำเป็นต้องศึกษาและหาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีเจรจาเข้าร่วมเป็นสมาชิก ประเทศไทยสามารถไม่นำพืชบางชนิดเข้าร่วมเจรจาได้หรือไม่ เช่น ข้าว หรือแม้กระตั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานในอาชีพสำคัญ การตั้งสหภาพแรงงาน การเข้าถึงยา เป็นต้น ซึ่งมีหลายประเด็นที่จะต้องลงลึกในรายละเอียด การขยายเวลาศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ

“หากสภาฯเห็นชอบขยายเวลาออกไป คณะอนุกรรมาธิการทั้ง 3 คณะ ก็จะต้องดำเนินการศึกษาผลกระทบ ประโยชน์ในรายละเอียดมากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและภายหลังครบกำหนดขยายเวลา 60 วันทางกรรมาธิการฯก็จะเสนอผลของข้อสังเกตการณ์ทั้งหมดต่อสภาฯพิจารณา หากไม่มีข้อสงสัยใดก็จะนำข้อมูลที่ได้เสนอต่อรัฐบาลต่อไป หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ”

ด้าน นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบ CPTPP กล่าวว่า จากการประชุมกรรมาธิการ CPTPP ยังมีประเด็นที่จำเป็นต้องศึกษาและลงในรายละเอียดอีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการตีความในข้อบทต่างๆ เพราะมองว่าสามารถตีความได้หลายแบบ เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“โดยเฉพาะการตีความพันธุ์พืชยังไม่ชัดเจน ซึ่งอาจจะต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมในการเข้าร่วม UPOV 1991 นอกจากนี้ ปัจจุบันยังพบว่ายังไม่มีประเทศใดขอเข้าร่วมสมาชิก CPTPP แม้กระทั่งอังกฤษเอง แม้จะประกาศว่าสนใจแต่ก็ยังไม่ได้เดินหน้าเข้าร่วมในตอนนี้ ซึ่งมองว่าหลายประเทศที่สนใจก็ยังอยู่ในสถานะที่สนใจเข้าร่วมเท่านั้น ยังไม่มีใครขอเข้าร่วมในตอนนี้ ซึ่งประเทศไทยเองก็อยู่ในสถานะเดียวกันกับหลายประเทศ”

ดังนั้น รัฐบาลควรที่จะฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วนรอบด้านก่อนการพิจารณาและตัดสินใจ อาจจะต้องรอก่อนก็ได้หากการดำเนินการไม่ทันการประชุม CPTPP ในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ที่เม็กซิโก เพราะต้องการให้ประเทศไทยได้ข้อสรุปและความคิดเห็นอย่างรอบด้านภายในก่อน เพื่อพิจารณาตัดสินใจจะเข้าร่วมหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมองว่าผลการศึกษาผลดีในการเข้าร่วมยังไม่ครบถ้วนรอบด้าน ขาดในเรื่องของการส่งออกภาคบริการ การลงทุน การแข่งขัน ซึ่งเล็งเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องศึกษาในรายละเอียดให้มากกว่านี้ก่อนการตัดสินเข้าร่วมสมาชิกของประเทศไทย

จะให้ความคุ้มครองสิทธิ์และประโยชน์ต่อนักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ แต่ไม่คุ้มครองต้นทางของสายพันธุ์นั้น ๆ เป็นการเปิดทางต่างชาติให้สามารถละเมิดได้หรือไม่ รวมถึงเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ที่ญี่ปุ่นจะให้ไทยส่งไปเม็กซิโกทั้งที่ไม่ใช่เส้นทางโลจิสติกส์ แต่ญี่ปุ่นจะไปลงทุน รวมถึงอุตสาหกรรมยาของไทยจะไม่ได้รับประโยชน์ด้านราคายาจากการลดภาษีศุลกากรแหล่งวัตถุดิบยาที่อยู่นอกประเทศสมาชิก CPTPP และสิทธิพิเศษของอุตสาหกรรมสัญชาติไทยลดลงอย่างมาก การจัดซื้อจัดจ้างซึ่งภาครัฐต้องเปิดตลาดให้สมาชิก CPTPP เข้ามาแข่งขันอย่างเท่าเทียม

รายงานข่าวระบุว่า หากกรรมาธิการวิสามัญ ขยายระยะเวลา เท่ากับว่าไทยจะยื่นสมัครเข้าร่วมเจรจาในกลุ่ม CPTPP ต่อคณะกรรมาธิการความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP Commission) ไม่ทันกำหนดที่จะจัดขึ้นวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ซึ่งคงต้องรอไปอีก 1 ปี

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทาง ส.อ.ท.มองว่าเราควรต้องเข้าร่วมการเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เพื่อจะได้มีอำนาจเข้าไปเจรจาต่อรองเรื่องต่างๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาล ซึ่งต้องรอผลสรุปจากคณะกรรมาธิการวิสามัญว่าจะสรุปผลการศึกษาออกมาอย่างไร

“หากต้องเลื่อนผลสรุปไม่ทันที่จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และไม่ทันสมัครเข้าร่วมในวันที่ 5 สิงหาคม ปีนี้จะเลื่อนไปอีก 1 ปี ก็ไม่เป็นไร ตามโพรแซสของไทย แต่ขอให้เข้าร่วมแน่ๆ ส่วนการที่นักลงทุนจะย้ายฐานไปก็มั่นใจว่าคงมองทั้งไทยและเวียดนาม เราก็ต้องพยายาม ในระหว่างนี้หากไทยต้องสูญเสียแต้มต่อทางภาษีก็หันมากระตุ้น Local Economy แทน”

ทั้งนี้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 ทาง กกร.จะจัดเสวนาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ประโยชน์ ผลกระทบ และประสบการณ์จากประเทศภาคี โดยเชิญตัวแทนคือ Mr.Ryohei Gamada นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส (เอเชีย) จาก JETRO, Mrs Tran Thi Thanh My ที่ปรึกษาการพาณิชย์ จากสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทย พร้อมด้วยนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้า นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์