แจกเงินเยียวยาเกษตรกร 5 พันบาท ไม่ทะลุเป้า ได้แค่ 7.7 ล้านคน

กระทรวงเกษตรฯ อัพเดทผลเยียวยาเกษตรกร 5,000 บาท เข้ากระเป๋าเกษตรกรที่ 7.7 ล้านราย จากเป้าหมาย 10 ล้านราย เหลือค้าง 7 หมื่นราย เคราะห์ซ้ำเจอพายุ ‘ซินลากู’ กระทบพื้นที่เกษตรทั่วประเทศ 10 จังหวัด 3.8 หมื่นไร่ เฉพาะนาข้าวเสียหาย แล้ว 1.8 หมื่นไร่ สั่งกรมส่งเสริมการเกษตรจัดสรรงบฟื้นฟูหลังน้ำลด

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ฐานะนายทะเบียนได้ทำการตรวจสอบความซ้ำซ้อนข้อมูล และส่งรายชื่อเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ฯให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร รายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563

ล่าสุด สศก. ได้จัดส่งรายชื่อเกษตรกรที่ได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของข้อมูลกับโครงการเราไม่ทิ้งกันของกระทรวงการคลัง ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ข้าราชการบำนาญของกรมบัญชีกลาง และระบบประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคม ให้ ธ.ก.ส. เพื่อโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร (ข้อมูล ณ 31 ก.ค.63) รวมทั้งสิ้น 7,747,490 ราย

โดย ธ.ก.ส. ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร ตั้งแต่ 15 พ.ค. – 31 ก.ค. 63 รวม 3 งวด จำนวน 112,126.730 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 96.48 ของเป้าหมาย 116,212.35 ล้านบาท แบ่งเป็น งวดที่ 1 จำนวน 7,486,705 ราย จำนวนเงิน 37,433.525 ล้านบาท งวดที่ 2 จำนวน 7,472,114 ราย จำนวนเงิน 37,360.570 ล้านบาท และงวดที่ 3 จำนวน 7,466,527 ราย จำนวนเงิน 37,332.635 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มีเกษตรกรที่ยังไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรได้ เนื่องจากไม่ได้แจ้งเลขบัญชี ธ.ก.ส. จะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร โดยมีช่องทาง เช่น ติดประกาศหน่วยงานในพื้นที่ โทรศัพท์แจ้งเกษตรกรโดยตรง รวมทั้งส่งรายชื่อให้กับผู้นำชุมชนเพื่อไปแจ้งเกษตรกรต่อไป

สำหรับเกษตรกรกลุ่มสุดท้าย ที่ได้แจ้งความจำนงเพาะปลูกและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม และเพาะปลูกพืชก่อนวันที่ 30 มิถุนายน ซึ่งมีจำนวน 38,737 ราย กลุ่มนี้จะได้รับเงินครั้งเดียว 15,000 บาท ภายในเดือนสิงหาคมนี้ สำหรับผลการอุทธรณ์ มีเกษตรกรที่มาขอยื่นเรื่องอุทธรณ์เยียวยาของทั้ง 8 หน่วยงาน โดยตรวจสอบความถูกต้องและซ้ำซ้อนแล้ว คงเหลือ 189,645 ราย

“มีเกษตรกรที่ยังไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรได้ เนื่องจากไม่ได้แจ้งเลขบัญชี ขณะนี้ได้เร่งให้หน่วยงานในพื้นที่ติดตามเกษตรกรเพื่อส่งเลขบัญชีให้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งบางส่วนจากการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมาพบว่า มีเกษตรกรที่เข้าหลักเกณฑ์ที่สามารถจ่ายเงินเยียวยาได้อีก คงค้างจำนวน 70,338 ราย และอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบสิทธิ์อีก 269 ราย ซึ่งคาดว่าจะจ่ายเงินได้เช่นกัน ” นายอลงกรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ จากผลกระทบจากพายุซินลากู กระทรวงฯได้สำรวจผลกระทบด้านการเกษตร แบ่งเป็น ด้านพืช 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ น่าน ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน เลย ชุมพร สุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เกษตรกร 6,366 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 38,233.50 ไร่

แบ่งเป็น ข้าว 18,904.50 ไร่ พืชไร่ 9,986 ไร่ พืชสวน 9,343 ไร่ ด้านประมง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา เลย นครพนม และจังหวัดหนองบัวลำภู เกษตรกร 1,396 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ บ่อปลา 1,137.25 ไร่ และด้านปศุสัตว์ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย น่าน ลำปาง เกษตรกร 480 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 6,801 ตัว ได้แก่ โค-กระบือ 230 ตัว สุกร 76 ตัว สัตว์ปีก 6,495 ตัว

ส่วนการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการกรมส่งเสริมการเกษตรจัดสรรงบเยียวยาฟื้นฟูหลังน้ำลด และให้กรมชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 29 เครื่อง ได้แก่ เชียงใหม่ 2 เครื่อง ขอนแก่น 20 เครื่อง กาฬสินธุ์ 2 เครื่อง ร้อยเอ็ด 5 เครื่อง รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ และบุคลากรไว้พร้อมรับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด สามารถช่วยเหลือได้ทันที เพื่อเร่งการระบายน้ำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และในส่วนกรมปศุสัตว์ ได้เตรียมเสบียงสัตว์แห้งสำรอง 5,612.60 ตัน เวชภัณฑ์ ยานพาหนะ ทีมสัตวแพทย์และผู้ช่วย สัตวแพทย์ โดยได้แจกจ่ายเสบียงสัตว์ไปแล้ว 2,000 กิโลกรัม เพื่อช่วยเหลือในพื้นที่ อ.เมืองเลย จ.เลย