นม “ไทยมิลค์” โคม่า จ่อยื่นขอฟื้นฟู นมกล่องล้นฟาร์มเจ๊งปิดกิจการ

ไทยมิลค์

โควิด-เศรษฐกิจซบเซาพ่นพิษลามอุตสาหกรรม “ไทยมิลค์” ส่งสัญญาณยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ หลังขาดทุนตั้งแต่ต้นปีกว่า 10 ล้าน ปัญหารุมเร้าเจอโรคระบาดปากและเท้าเปื่อย ขายนมดิบลำบาก ยอมขายขาดทุน คนขาดกำลังซื้อ ชี้เกษตรกรเริ่มหนี้สินพุ่ง ถึงขั้นขายฟาร์มโคนมทิ้งอาชีพ ประคองรายได้ ร้องมิลค์บอร์ดเหลียวแล

นายเชวงศักดิ์ สงวนวงศ์วิจิตร ประธานกรรมการสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าหรือโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนมรวมไปถึงตลาดนมพาณิชย์ประกอบกับอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจซบเซา ส่งผลให้ผู้บริโภคขาดกำลังซื้อและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมลดลง ทำให้เกิดปัญหาปริมาณน้ำนมดิบที่สมาชิกนำมาส่งให้ต่อวัน จากเดิมวันละ 130 ตัน เหลือวันละ 123 ตัน ลดลงไป 7 ตันต่อวัน

ขณะที่สหกรณ์มีกำลังการผลิต 100 ตันต่อวัน และสหกรณ์ต้องประสบปัญหาจากการจัดสรรโควตานมโรงเรียนที่ไม่ชัดเจน มีการเปลี่ยนระบบจากการเลื่อนการเปิดภาคเรียน โดยในทุกปีจะมีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เดือน ก.ย. ทุกปีสหกรณ์ต้องสต๊อกไว้ปริมาณ 500-700 ตัน/วัน จากสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนดังกล่าวจึงไม่สามารถประเมินสต๊อกน้ำนมได้ส่วนหนึ่งจึงเกิดปัญหาสต๊อกน้ำนมดิบล้น

อีกทั้ง ก่อนหน้านี้สมาชิกสหกรณ์จำนวนกว่าครึ่งที่โคนมป่วยจากโรคระบาดปากและเท้าเปื่อย ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงตามงวดที่กำหนดไว้ส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของสหกรณ์ ต้องรับภาระการชำระหนี้ส่งคืนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แทน ทำให้สหกรณ์ไทยมิลค์ขาดสภาพคล่อง 3 ปีติดต่อกัน รายจ่ายและต้นทุนของฟาร์มเลี้ยงเพิ่มสูงขึ้น จึงไม่มีเงินเพียงพอชำระหนี้สหกรณ์ หรือส่งดอกเบี้ยเดือนต่อเดือนเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดหนี้เสีย

โดยเฉพาะปีนี้วิกฤตโควิด-19 ประชาชนไม่มีกำลังซื้อ จึงทำให้ลดการบริโภคผลิตภัณฑ์นมสดพาสเจอไรซ์ภายใต้แบรนด์ “ไทยมิลค์” ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขาดทุนไปแล้วกว่า 10 ล้านบาทเนื่องจากขายไม่ได้ แม้ว่าได้เพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ไม่คลี่คลายหรือเกิดการระบาดระลอก 2 คาดว่าจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการยื่นแผนฟื้นฟูสหกรณ์ ซึ่งขณะนี้เกษตรกรหลายรายเริ่มขายโคนมเพื่อประคองรายได้ มากกว่า20% ยอมขายฟาร์มทิ้งเพื่อไปทำอาชีพอื่น

“ก่อนหน้านี้เราปรับรูปแบบไปผลิตภัณฑ์นมกล่อง เพื่อรองรับน้ำนมดิบล้น ซึ่งคู่แข่งเยอะอยู่แล้วก็ขาดทุนบ้าง ยิ่งมาเจอช่วงโควิด แย่เลย แต่ละวันเรายอมขายขาดทุน ดีกว่าทิ้งเปล่า ๆ สมาชิกก็เริ่มรายได้ลด ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น หลายฟาร์มทยอยเจ๊งกันไป เพราะขายนมดิบยาก คนเซฟเงินในกระเป๋า เข้าใจว่านมอาจไม่จำเป็นมากนัก หลายกรณีเราก็เคยเสนอมิลค์บอร์ดไป แต่คงรอไม่ไหว ตอนนี้ก็ขอพึ่งพาตัวเองมากกว่า ประคองรายได้กันไป เพราะเข้าใจว่ารัฐบาลต้องดูแลหลายเรื่องแต่ถ้าหนักและเศรษฐกิจเป็นแบบนี้คงต้องยื่นแผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์”

ปัจจุบันสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จำกัด เป็นสหกรณ์ประเภทสหกรณ์การเกษตร รวบรวมน้ำนมโค จากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ และนำน้ำนมโคที่รวบรวมส่งขายให้กับบริษัทเอกชนรวมทั้งนำน้ำนมโคแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มภายใต้แบรนด์ไทยมิลค์ของสหกรณ์ มีเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 800 ล้านบาท แบ่งไว้เป็นสินเชื่อเพื่อการกู้แก่สมาชิก 500 ล้านบาท เมื่อปีที่ผ่านมาได้ดอกผลจากการให้กู้สินเชื่อ 25 ล้านบาท โดย 70% เป็นเงินปันผลของสมาชิก

รายงานข่าวระบุ ก่อนหน้านี้คณะกรรมการในคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) ได้มีการประชุมวาระเร่งด่วนเพื่อพิจารณาแนวทางลดผลกระทบเพื่อลดและแก้ไขปัญหาน้ำนมดิบล้น การประชุมพิจารณาอนุมัติมาตรการสนับสนุนแก้ปัญหาน้ำนมดิบเกษตรกรช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ช่วยเหลือเกษตรกรโคนม 1.5 หมื่นราย และห้ามผู้ประกอบการลดการรับซื้อน้ำนมดิบ 30%

รวมทั้งจัดสรรเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องในการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร ปัจจุบันนี้ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งต้องรอการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง ; สหกรณ์โคนมไทยมิลค์ ชี้แจง โควิดกระเทือน-แต่ไม่ถึงขั้นฟื้นฟูกิจการ