อุตสั่ง ‘รง.น้ำตาล’ เพิ่มสต๊อก กลัวไม่พอขาย-ห้างบีบซื้อได้ไม่เกิน6ถุง

จับตาแล้งฉุดผลผลิตอ้อยหด ห้างโมเดิร์นเทรดประกาศจำกัดการซื้อ ด้านสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย เตรียมพร้อมสั่งโรงงานน้ำตาลสต๊อกสำรองเพิ่มป้องกันขาดแคลนอีก1 เดือน 200,000 ตัน จากเดิมแค่3 เดือน 600,000 ตัน หลังคาดการณ์ผลผลิตปี 2563/2564 ได้แค่ 70ล้านตัน แถมเลื่อนเปิดหีบไป 1 เดือน จาก ธ.ค. 2563 เป็นต้น ม.ค. 2564 ด้าน 58 โรงงานเตรียมระดมแนวทางบริหารจัดการอ้อยและน้ำตาล 11 ก.ย.นี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการสำรวจการจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวบรรจุถุงในห้างค้าปลีกโมเดิร์นเทรด พบว่า มีการจำกัดจำนวนการซื้อทุกยี่ห้อครอบครัวละไม่เกิน 6 ถุง เริ่มตั้งแต่23 กรกฎาคม-31 ธันวาคม 2563จากปกติที่ไม่มีการจำกัดจำนวน

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สาเหตุที่ห้างค้าปลีกจำกัดขายปริมาณน้ำตาล เนื่องจากในช่วง 3 เดือนนี้จะเป็นช่วงรอยต่อของฤดูหีบเก่ากับเริ่มฤดูหีบใหม่ ซึ่งโดยปกติจะเริ่มหีบในเดือน ธ.ค. 2563 หรือ ม.ค. 2564 จะมีน้ำตาลเข้ามาใหม่ช่วงนั้น ห้างเลยกลัวว่าปลายฤดูแล้วน้ำตาลจะไม่พอ แต่ทาง สอน.ได้เตรียมเรื่องนี้ไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วหลายเดือน โดยให้โรงงานน้ำตาลสำรองสต๊อกน้ำตาลไว้ให้เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ ช่วง 3 เดือนระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2563ซึ่งเป็นไปตามระเบียบโรงงานแล้วยังได้กำหนดให้จะต้องสำรองน้ำตาลป้องกันปัญหาการขาดแคลนอีก 1 เดือน หรือ 3+1

ทั้งนี้ ในแต่ละปีปริมาณการใช้น้ำตาลปกติในประเทศทั้งรับประทานและซื้อไปผลิตสินค้า รวมแล้วประมาณเดือนละ 2,000,000 ล้านกระสอบ หรือ 200,000 ตัน ดังนั้น ปริมาณน้ำตาลที่ต้องสำรองไว้ช่วง 3 เดือนดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 6,000,000 กระสอบ หรือ 600,000 ตัน

สำหรับฤดูกาลใหม่ที่จะเปิดหีบปี 2563/2564 ได้กำหนดเป็นช่วงกลางเดือนธ.ค. 2563 หรือต้นเดือน ม.ค. 2564 ซึ่งอยู่ที่ความพร้อมของโรงงานน้ำตาลทั้ง 58 โรง โดยช่วงแรกที่เปิดอาจยังมีปริมาณอ้อยเข้าหีบไม่มาก แต่คาดว่าจะหีบได้เต็มที่ในเดือน ก.พ. 2564จากปกติการเปิดหีบอ้อยจะมีขึ้นในช่วงต้นเดือน ธ.ค.ของทุกปี โดยคาดการณ์ว่าปี 2563/2564 จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบไม่เกิน 70 ล้านตัน ซึ่งเป็นการคาดการณ์เบื้องต้นครั้งแรก และช่วงใกล้เปิดหีบจะมีการประเมินครั้งที่ 2 อีกครั้ง หากฝนตกในช่วง 3 เดือนนี้ดี (ก.ย.-พ.ย.) ก็อาจมีผลต่อการเติบโตของอ้อยมากขึ้น

“ปีนี้แล้งอ้อยอาจไม่ค่อยสมบูรณ์ก็อาจรอเวลาเปิดช้าไปสักหน่อย อาจเป็นกลาง ธ.ค. หรือต้น ม.ค. ซึ่งจริง ๆ อาจไม่ใช่การเลื่อนเพราะที่ผ่านมาไม่มีการกำหนดที่แน่นอน แต่จะดูความพร้อมของชาวไร่ และโรงงานน้ำตาลเป็นหลัก ส่วนการเปิดหีบช้ากว่าปกติ ส่งผลอะไรหรือไม่ต่ออุตสาหกรรมน้ำตาล หรือจะมีน้ำตาลที่เหลือจะไหลออกนอกประเทศหรือไม่นั้น ด้วยตอนนี้ราคาน้ำตาลโลกไม่ดีนัก หรือประมาณ 12.67 เซนต์/ปอนด์ดังนั้น น้ำตาลทรายขาวราคาในประเทศจึงดีกว่า จึงไม่น่ามีการลักลอบส่งออกไปมาก ดังนั้น การเปิดหีบช้าจึงไม่ค่อยมีผลจะมีผลบ้างคือเมื่อเปิดหีบช้าน้ำตาลก็จะมีเข้ามาในระบบช้า แต่ สอน.ก็เตรียมการไว้เนิ่น ๆ แล้ว แต่ถ้าอ้อยมากแล้วเปิดหีบช้าก็จะหีบไม่หมด ไม่ทันฤดูฝนทำให้เข้าไปตัดอ้อยและขนออกมายาก”

อย่างไรก็ตาม จากสถิติผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาจยังไม่เคยมีการเปิดหีบช้ากว่าปกติ เนื่องจากอย่างปี 2551/2552 แม้ว่าปริมาณอ้อยจะมีปริมาณน้อยอยู่ที่ 66.46 ล้านตัน มีปริมาณน้ำตาล 7.19 ล้านตัน แต่ไม่ใช่เพราะภัยแล้ง แต่เป็นผลมาจากปริมาณพื้นที่เพาะปลูกอ้อยยังน้อยกว่าปัจจุบันมาก และไม่มีการเลื่อนเปิดหีบ ต่างกับครั้งนี้ที่เปิดหีบช้าเพราะปริมาณอ้อยน้อยจากภัยแล้ง

ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC)เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายมีความกังวลต่อประเด็นสถานการณ์การเพาะปลูกฤดูการผลิตปีหน้า (ปี 2563/2564) ที่หลายพื้นที่เพาะปลูกต้องประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง โดยจากประเมินปริมาณผลผลิตอ้อยในรอบแรกคาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 2563/2564 ไม่ถึง 70 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนที่มี 130 ล้านตัน ส่งผลต่อความมั่นคงของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

โดยโรงงานจะให้ความสำคัญอ้อยสะอาด และการพัฒนาประสิทธิภาพการหีบสกัดให้ได้ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยีลด์) ให้ได้สูงสุดเพื่อให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้จากการเพาะปลูกที่ดีดังนั้น ในวันที่ 11 ก.ย. 2563ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง58 โรง จะมีการสัมมนาประจำปี 2563 เพื่อร่วมกันหารือถึงแนวทางต่าง ๆในการพัฒนาและบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไปสู่ความยั่งยืน โดยในที่ประชุมจะมีการหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำตาลทรายภายในประเทศฤดูการผลิตปี 2563/2564 การกำหนดปริมาณมาตรฐานในการผลิตน้ำตาลทราย การสร้างแรงจูงใจให้แก่ชาวไร่ปลูกอ้อยและการจัดเก็บผลิตอ้อยสดที่มีคุณภาพส่งมอบให้แก่โรงงานน้ำตาล เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาอ้อยไฟไหม้