รุกคืบ! บริษัทเจ้าสัวเจริญ ร่วมทุนไทยยูเนี่ยน รุกตลาดอาหาร เครื่องดื่ม

เจ้าสัวเจริญ

เบื้องลึก “ไทยยูเนี่ยนจอยด์เวนเจอร์ไทยเบฟ” ตั้งบริษัทใหม่ “ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ ยูไนเต็ด” ทุนจดทะเบียน 10 ล้าน ต่อยอดนวัตกรรม ลุยลงทุนสตาร์ตอัพ

แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2563 ทางบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เกี่ยวกับการลงทุนของบริษัท ไทยยูเนี่ยน อินกรีเดียนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TU ถือหุ้น 100% ในกิจการร่วมค้า “บริษัท ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ ยูไนเต็ด จำกัด”

ซึ่งแม้ว่าจะมีทุนจดทะเบียนเพียง 10 ล้านบาท มีจำนวน 1 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท แต่น่าสนใจคือกิจการนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่าง กลุ่มทียู และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ ภายใต้แบรนด์หรือเครื่องหมายการค้าของบริษัท ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ ยูไนเต็ด จำกัด โดยใช้อาคารปาร์คเวนเจอร์ เป็นออฟฟิศ

โดยองค์ประกอบของผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย 1.บริษัท เบฟเทค จำกัด ถือหุ้น 509,999 หุ้น หรือ 50.9999% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด 2.บริษัท ไทยยูเนี่ยน อินกรีเดียนท์ จำกัด ถือหุ้น 490,000 หุ้น หรือ 49% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และ 3.บริษัท ไทยดริ้งค์ จำกัด ถือหุ้น 1 หุ้น หรือ 0.0001% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

ส่วนคณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วย 1.นายปราโมทย์ พรประภา (กรรมการอิสระ) 2.นายฐาปน สิริวัฒนภักดี 3.นายธีรพงศ์ จันศิริ 4.ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ และ 5.นายดนัย ครามโกมุท

ธีรพงศ์ จันศิริ
ธีรพงศ์ จันศิริ

แหล่งข่าวกล่าวว่า การร่วมทุนครั้งนี้เกิดจากผู้บริหารทั้งสองฝ่ายมีความสนิทคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และมุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดธุรกิจด้วยการใช้นวัตกรรม โดยก่อนหน้านี้ทียูจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะสตาร์ตอัพ ที่มีชื่อว่า โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ สเปซ-เอฟ (SPACE-F) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และมหาวิทยลัยมหิดล

ซึ่งดำเนินการมาสู่ปีที่ 2 แล้ว ปีนี้มีไทยเบฟเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่มาสนับสนุนด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าสตาร์ตอัพทุกรายที่ผ่านการบ่มเพาะจากโครงการ จะถูกดึงมาทำการตลาดผ่านบริษัทนี้ทั้งหมด อาจจะมีเพียงบางรายการเท่านั้น ที่จะได้รับการคัดเลือกแล้วว่ามีศักยภาพหรือมีความเหมาะสม

“ตอนนี้บริษัทฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจฯ อยู่ในขั้นตอนเห็นชอบกันร่วมกัในหลักการ ทางทียูมีจุดแข็งเรื่องนวัตกรรม ส่วนไทยเบฟมีจุดแข็งด้านการทำการตลาดและจัดจำหน่าย ซึ่งแม้ว่าทียูจะมีบริษัทอยู่ทั่วโลก แต่ก็ต้องยอมรับว่าในส่วนของตลาดในประเทศ และกลุ่มอาเซียนทางไทยเบฟมีจุดแข็งอยู่มาก มีเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่ประสบความสำเร็จทั้งอาหาร ขนมและเครื่องดื่ม ดังนั้น การมาร่วมกันจึงถือเป็นการนำจุดแข็งของทั้งสองฝ่ายไปต่อยอดธุรกิจ ส่วนผลิตภัณฑ์ใดจะเปิดตลาดก่อนก็ต้องมาพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้”

“เดิมคุณธีรพงศ์มีนโยบายหลักที่จะสร้างการเติบโตธุรกิจจากการพัฒนานวัตกรรมและสตาร์ตอัพ มานานแล้ว เพราะต้องการต่อยอดสินค้าอาหารไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม แต่ยิ่งมาเกิดโควิด ทำให้มองว่าจะต้องเร่งรัดการพัฒนาด้านนี้ให้เร็วขึ้น และที่สำคัญไอเดียของคุณธีรพงศ์ไม่ได้คิดว่าจะต้องมาแข่งขันทำธุรกิจ แต่การทำธุรกิจโดยการสร้างพาร์ทเนอร์จะทำให้เกิดการพัฒนายิ่งขึ้น เพราะแต่ละคนจะมีจุดแข็งของตัวเอง”

ทั้งนี้ โครงการ SPACE-F เน้นการบ่มเพาะสตาร์ตอัพด้านอาหาร หรือ ฟู้ดเทค ซึ่งในปีแรก มีผู้สนใจเข้าร่วม 200 ราย คัดเลือกเข้ารับการฝึกอบรม 23 ราย และผ่านการอบรม 16 ราย ซึ่งทางทียูเลือกที่จะลงทุน (Invest) ใน 4 สตาร์ตอัพ เช่น เทคโนโลยี HydroNeo ระบบการจัดการฟาร์มกุ้งอัจฉริยะจากเยอรมนี Mama Foods คุกกี้ผงด้วงดำ มีโปรตีนสูง จากสหรัฐฯ อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานจากสิงคโปร์ เป็นต้น ส่วนอีก 12 รายก็ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการลงทุนทั้งหมด สามารถทำการตลาดได้