กรมชลฯ ชงโปรเจ็กต์แก้มลิงแก้ท่วมแล้งขอนแก่น 3.5 หมื่นไร่

กรมชลประทานเตรียมแผนขุดลอกแก้มลิง เพิ่มพื้นที่ชลประทานให้กับเกษตรกรชาวลุ่มน้ำชี 3.5 หมื่นไร่ เริ่มก่อสร้างปี 64 หวังตัดยอดน้ำอีสานตอนบนก่อนลงตอนล่าง พร้อมเผยสถานการณ์น้ำท่วมโคราชเริ่มลดลงหลังเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำมูลสำเร็จ

วันที่ 23 ต.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเตรียมดำเนินโครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อน พร้อมอาคารประกอบ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นแก้มลิงในพื้นที่ลุ่มน้ำชี เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 3.5 หมื่นไร่

เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั้งนาปี-นาปรัง และการเกษตรอื่น ๆ ขณะเดียวกันในกรณีที่แม่น้ำชีมีปริมาณน้ำมากยังสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยได้ส่วนหนึ่ง โดยโครงการนี้จะเริ่มดำเนินโครงการได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

“โครงการนี้จะช่วยป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองขอนแก่นในช่วงที่มีฝนตกหนัก ขณะเดียวกันก็จะเป็นการสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เนื่องจากที่ผ่านมาในฤดูฝนปริมาณน้ำในลุ่มน้ำชีจะมีปริมาณน้ำมาก จนส่งผลกระทบกับประชาชนตามแนวลำน้ำชี ก่อนที่จะไหลลงไปรวมกับแม่น้ำมูลที่อำเภอวารินชำราบ และไหลลงแม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี แต่ในฤดูแล้งก็จะเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคการเกษตรและการอุปโภคบริโภค”

โครงการแก้มลิงจะเป็นแหล่งน้ำให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี สำหรับโครงการนี้ใช้พื้นที่ในการดำเนินการจำนวน 6,196 ไร่ แต่ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่โครงการจะได้รับประโยชน์ 3.5 หมื่นไร่ นอกจากนี้แล้วกรมชลประทานยังมีแผนงานอีกหลายโครงการตามแนวสองฝั่งแม่น้ำชี เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งให้กับประชาชน” นายประพิศกล่าว

สำหรับโครงการแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบ (ระยะที่ 1) อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จากเดิมเป็นหนองน้ำธรรมชาติมีความจุ 7.4 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานจะดำเนินการขุดลอกให้มีความลึกประมาณ 3-5 เมตร พร้อมทำคันดินโดยรอบ และมีอาคารบังคับน้ำ 9 แห่ง จะทำให้มีความจุเพิ่มขึ้นอีก 27.62 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมเป็นความจุ 35.02 ล้านลูกบาศก์เมตร

ซึ่งปริมาณน้ำจะเพียงพอสำหรับส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์ 35,000 ไร่ ทั้งนี้กรมชลประทานจะดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเข้มข้น เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการ

ด้านนายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นายปกรณ์ สุตสุทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา และคณะทำงานศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำมูลตอนบน (ส่วนหน้า) เผยว่า กรมชลประทาน ได้สั่งการให้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 3 เครื่อง ที่ประตูระบายน้ำจอหอ และสั่งติดตั้งเพิ่มที่ประตูระบายน้ำข่อยงามอีกจำนวน 3 เครื่อง

พร้อมเดินเครื่องเร่งผักดันน้ำจากลำตะคองผ่านประตูระบายน้ำกันให้ไหลลงสู่แม่น้ำมูลบริเวณฝายบ้านส้ม ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ โดยเร็วที่สุด เพื่อจะช่วยให้ระดับน้ำที่ท่วมขังบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตเทศบาลเมืองนครราชสีมาซึ่งเริ่มลดลงตามลำดับ