“อังกฤษ” พ้นชายคา “อียู” ไทยเดินเกมเจรจา FTA คู่ขนาน

ขนส่ง.

อีก 3 เดือน ที่สหราชอาณาจักร (ยูเค หรืออังกฤษ) จะออกจาก สหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการ (Brexit) ในวันที่ 1 มกราคม 2564 แน่นอนว่าหลังจากแยกอาณาจักรออกมาแล้วระบบการค้า อัตราภาษี และกฎระเบียบต่าง ๆ จะต้องมีการปรับปรุงใหม่ ล่าสุดกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดสัมมนา “Brexit the Series : โอกาสดี ๆ ที่ผู้ส่งออกสินค้าไทยต้องรู้” ขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำข้อตกลงระหว่างกัน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะออกอย่างมีข้อตกลงรองรับ อย่างไรก็ตาม ยูเคจะมีการปรับกฎระเบียบ รวมถึงอัตราภาษีของอังกฤษเองที่แตกต่างจากเมื่ออยู่ในอียู

“ขณะนี้พบว่าอังกฤษเดินหน้าทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศที่มีเอฟทีเอกับอียูไปแล้วกว่า22 ฉบับ ล่าสุดได้ทำข้อตกลงเอฟทีเออังกฤษ-ญี่ปุ่น ไปเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา รวมถึงกับอาเซียนหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ และเวียดนาม ทั้งยังให้ความสนใจจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ยูเคให้ความสนใจ สำหรับความเป็นไปได้ในการเจรจาเอฟทีเอไทย-ยูเคคาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนช่วงต้นปี 2564”

ทั้งนี้ เมื่ออังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกอียู สิ่งที่จะเห็นในทันที คือ อังกฤษจะมีนโยบายกำหนดอัตราภาษีใหม่ (MFN applied rate) เพื่อใช้กับสินค้านำเข้าจากประเทศที่สาม

“หากอังกฤษออกจากลอียูจะมีผลต่อโควตานำเข้าสินค้าไทยที่เคยทำข้อตกลงกับอียูประมาณ 100 รายการ ซึ่งปัจจุบันได้เจรจาจัดสรรโควตาเรียบร้อย โดยยึดหลักการว่าไทยจะต้องได้ประโยชน์ไม่น้อยกว่าเดิมที่เคยได้รับทั้งในอียูและอังกฤษ”

นอกจากนี้ อังกฤษได้ยกเลิกมาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) ในสินค้าที่อียูเคยเรียกเก็บเอดีก่อนหน้านี้ เช่น ข้าวโพดหวาน ทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าดังกล่าวได้มากขึ้น

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยและนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย กล่าวว่า ไทยต้องผลักดันเอฟทีเอไทย-อังกฤษ เพราะจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 และสงครามการค้า จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการค้าโลกในระยะ 2-3 ปีนี้

“หากเจรจาเอฟทีเอไทย-อังกฤษสำเร็จ เชื่อว่ามูลค่าการค้า การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยจากนี้อีก 1 ปี จะเติบโต5-6 หมื่นล้านบาท จากปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท โดยสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น กุ้ง ปลา ไก่ ยางพาราผักและผลไม้ มันสำปะหลัง อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น เพราะอังกฤษให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร”

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่าการขอจัดสรรโควตาส่งออกไก่สดและไก่แปรรูปนั้นจะดำเนินการล่วงหน้า3 เดือนก่อนจะเริ่มการส่งออกใหม่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ โดยมีโอกาสที่จะเจรจาได้หลังจากวันที่ 1 มกราคม 2564 ไปแล้ว ซึ่งคาดว่าจะเริ่มส่งออกได้ในช่วงกลางปี 2564

อย่างไรก็ตาม มองว่าปริมาณโควตาและอัตราภาษีไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉลี่ยไทยส่งออกไก่สดและแปรรูปไทยไปอังกฤษ 1.7 แสนตันต่อปีคิดเป็นสัดส่วน 30% จากภาพรวมการส่งออกไก่ไปตลาดอียู แต่คาดว่าอังกฤษจะกำหนดมาตรฐานการนำเข้าสินค้าใหม่ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกต้องศึกษา

ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ได้พิจารณาตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอทั้งร่างความตกลงระหว่างไทยและสหภาพยุโรป และร่างหนังสือแลกเปลี่ยน(exchange of letter) เกี่ยวกับการจัดสรรโควตาสินค้าของอียู และยูเคให้กับไทยหลัง Brexit โดยให้เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำ WTO ลงนามกำกับเพื่อรับรองว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสำคัญหลังจากที่ ครม.มีมติเห็นชอบ ซึ่งทุกฝ่ายจะสามารถดำเนินการตามกระบวนการภายในได้ แต่ร่างฯก็จะยังไม่มีผลผูกพันกับไทยจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา