ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ต.ค. 63 อยู่ที่ 50.9 ปรับตัวดีขึ้น แม้กังวลการเมือง

เศรษฐกิจเงียบเหงา

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค. 2563 อยู่ที่ 50.9 ปรับตัวดีขึ้น แม้ยังกังวลปัญหาการเมือง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2563 พบว่า อยู่ที่ 50.9 จาก 50.2 จากเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าผู้บริโภคจะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศค่อนข้างมาก

แต่ด้วยรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่องหลายมาตรการ ประกอบกับราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มมากขึ้น มีผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกมาก

ธนวรรธน์ พลวิชัย
ธนวรรธน์ พลวิชัย

อย่างไรก็ดี หอการค้าไทย คาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายไปอย่างน้อยไปจนถึงไตรมาส 4 ของปีนี้ จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลายตัวลง ซึ่งต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐว่าจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ได้อย่างเป็นรูปธรรมได้มากน้อยเพียงใด และสถานการณ์ทางการเมืองไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลงเนื่องจาก 2 ปัจจัยนี้ จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเป็นอย่างมาก

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 43.9 จาก 42.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 49.0 จาก 48.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 59.9 จาก 59.4

ปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่น ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 63 คาดหดตัวน้อยลงเหลือ -7.7% จากเดิมที่คาดไว้ที่ -8.5%, ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง, รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 รวมถึงการออกมาตรการฟื้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ทั้ง “เราเที่ยวด้วยกัน” “คนละครึ่ง” และ ”ช้อปดีมีคืน” ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้มากขึ้น

ขณะที่ปัจจัยลบ ประกอบด้วยความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองเรื่องการชุมนุม, กังวลโควิด-19 ระบาด, ผู้บริโภคกังวลค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง, กังวลเรื่องเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่า และ สหรัฐตัด GSP สินค้าไทย 231 รายการ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านกำลังซื้อของประชาชน ทั้งในโครงการคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน โครงการเราเที่ยวด้วยกัน รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่อาจจะออกมาเพิ่มเติมในเฟส 2 นั้น เชื่อว่าจะเป็นตัวชี้วัดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคใน 2 เดือนสุดท้ายของปี (พฤศจิกายน-ธันวาคม) นี้ จะดีขึ้น คาดเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ให้ขยายตัวได้ที่ 0.7-1% จะเกิดเงินหมุนเวียนในระบบราว 1 แสนล้านบาท

ประกอบกับปัจจัยสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไม่เป็นอุปสรรคในเชิงลบ ปัจจัยสนับสนุนจากต่างประเทศทั้งการที่ นายโจ ไบเดน ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงจะมีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น

ส่วนปัจจัยลบที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง ที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ด้วย ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ในทั่วโลก รวมทั้งปัญหาการเมืองในประเทศ มีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะอยู่ที่ติดลบ 7.5 ถึง ติดลบ 7.8% และหากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน ในเฟส 2 ออกมาอย่างต่อเนื่อง ก็คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 ได้อีกราว 60,000 ล้านบาท จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้น และการส่งออกควรจะดีขึ้นหลังจาก “โจ ไบเดน” มา

ทั้งนี้ อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปีหน้ามีโอกาสกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ โดย หอการค้าไทย คาดว่าจะเริ่มเห็นความเชื่อมั่นผู้บริโภคและเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาส 2 ของปี 2564