กุมขมับอนาคตธุรกิจเหมือง หลังปมไทย-อัคราลากยาว 3 ปี

เหมืองทอง

มีการตั้งคำถามขึ้นมามากมายถึงมาตรฐานการควบคุมดูแลเหมือง และความยากง่ายของธุรกิจนี้ ภายหลังจากเกิดกรณีข้อพิพาท “เหมืองทองคำอัครา” ระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท คิงส์เกต ออสเตรเลีย เข้าข่ายผิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ทำให้การทำเหมืองในประเทศไทยถูกรื้อ และกำกับด้วย พ.ร.บ.แร่ (ฉบับใหม่) ปี 2560 ซึ่งต้องย้อนกลับมาดูข้อมูลพื้นฐานกันใหม่ทั้งหมด

บูรณาการ 2 กระทรวง

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การควบคุมดูแลเหมืองแร่ในประเทศไทยทั้งหมดนั้น มีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เป็นผู้กำหนดกรอบการดำเนินธุรกิจ การควบคุมดูแล ภายใต้ พ.ร.บ.แร่มาโดยตลอด ซึ่งในขณะนั้นการดูแลเรื่องของการทำงาน รวมถึงมาตรฐานของเหมืองแร่ค่อนข้างที่จะเข้มงวดอยู่แล้ว

บวกกับความร่วมมือกันทั้ง 2 ฝ่าย คือ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ทำงานบูรณาการร่วมกันมาโดยตลอด เพื่อควบคุมดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม 600 กว่าเหมือง ไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชน เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดกรณีที่ทำให้มีข้อพิพาทถึงขั้นเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศขึ้นมา

ดังนั้น อยากให้มองเรื่องของประโยชน์จากการทำเหมืองในมิติอื่น เนื่องจากเหมืองคือการที่จะได้แร่ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น เหมืองหิน ซึ่งเป็นพื้นฐานในการผลิตปูนซีเมนต์ เพื่อใช้สำหรับงานก่อสร้างที่เกิดขึ้นทั้งหมดภายในประเทศ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐใช้ในการถมทะเล และโครงการอื่น ๆ ของภาคเอกชน จึงถือเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก เช่นเดียวกับเหมืองแร่ชนิดอื่น ๆ ที่ไทยสามารถขุดขึ้นมาได้ อย่างยิปซัม เป็นต้น

3 ปีข้อพิพาทไทย-TAFTA

นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวภาพรวมของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การควบคุมดูแลมีความเข้มงวดตามกฎหมาย มีกฎและระเบียบที่ชัดเจน แต่หากย้อนกลับไปกรณีของ “เหมืองทองอัครา” ที่ขณะนี้ใช้เวลาตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการนานถึง 3 ปีแล้วนั้น ได้มีการพูดถึงข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลธรณีวิทยา ที่ไม่เคยมีการเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้เลย

ซึ่งหากมีข้อมูลเหล่านี้จะสามารถนำมาเป็นข้อเปรียบเทียบระหว่างสิ่งแวดล้อมในอดีตและปัจจุบันได้ไม่ยาก จึงเป็นที่มาของการเร่งแก้กฎหมายแร่ฉบับใหม่ ที่จะมีการระบุถึงข้อมูลธรณีวิทยา เน้นการเก็บตัวอย่างสำคัญ เช่น พื้นดิน แหล่งน้ำ มีแร่หรือสารอะไรที่เป็นส่วนประกอบ เช่นเดียวกันกับชุมชนรอบเหมือง

ในส่วนความคืบหน้าของข้อพิพาทดังกล่าวกับทางคิงส์เกตนั้น ระหว่างนี้ทางอนุญาโตตุลาการได้ให้ทั้ง 2 ฝ่ายยื่นเอกสารเพิ่มเติมอีก หลังจากก่อนหน้านี้ได้ส่งข้อมูลไปชี้แจงรายละเอียดแล้ว คาดว่าอาจต้องใช้ระยะเวลา 3-4 เดือน เพื่อให้ทางอนุญาโตตุลาการพิจารณา ขณะที่การตัดสินของอนุญาโตตุลาการแน่นอนว่าจะต้องใช้เวลาถึง 2 ปีนับจากนี้

ส่อแววถอนฟ้อง

รายงานข่าวระบุว่า ได้มีการตั้งข้อสังเกตถึงการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวในหลายด้าน ทั้งการออกนโยบายแร่ทองคำ ที่ส่งสัญญาณว่าประเทศไทยยังสามารถทำเหมืองทองได้ เพียงแต่ต้องดำเนินตาม พ.ร.บ.แร่ (ฉบับใหม่) ปี 2560 เป็นการเปิดทางให้เหมืองทองเพียงรายเดียวของประเทศคือ “อัครา” ยื่นขอประทานบัตรขุดเจาะ

ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังสามารถทำเหมืองได้ หากการเจรจาเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกัน ที่ทั้ง 2 ฝ่ายวิน-วินด้วยกันทั้งคู่ นั่นหมายถึง หากทั้ง 2 ฝ่ายยอมถอย โดยรัฐบาลไทยตั้งเงื่อนไขการทำเหมืองขึ้นมา แล้วอัคราสามารถปฏิบัติได้ หมายความว่า เหมืองทองอัครา จะเปิดดำเนินการได้ จึงเป็นที่น่าจับตาดูว่าหากการเจรจาเงื่อนไขที่ตกลงกันได้ “คิงส์เกต” อาจถอนฟ้องรัฐบาลไทย

ยึดตาม “เขตแหล่งแร่”

ผู้ประกอบการเหมืองแร่ภาคเอกชนเปิดเผยว่า การทำธุรกิจเหมืองแร่มีความยากขึ้นมาก นับตั้งแต่มีกฎหมายแร่ฉบับใหม่ขึ้นมา และประกาศใช้ในช่วงเดียวกันกับที่เกิดเหตุการณ์ปิดเหมืองทองอัคราเพียงไม่กี่เดือน ดังนั้นกฎหมายใหม่จึงครอบคลุมหลายอย่างมากขึ้น ความยากแรกที่สำคัญที่สุดนั่นคือ กฎหมายระบุไว้ว่า การจะได้รับใบอนุญาตทั้งอาชญาบัตรสำรวจ และประทานบัตรขุดเจาะ พื้นที่นั้นจะต้องถูกประกาศเป็นเขตแหล่งแร่ก่อน

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วทางรัฐบาลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถสำรวจแหล่งแร่ทั้งประเทศจนครบทั้งหมดได้ภายใน 20 ปีแน่นอน จึงส่งผลให้เอกชนต้องรอการประกาศจากรัฐเพียงเท่านั้น

ส่วนความยากที่สอง คือ เมื่อมีเคสอัคราขึ้นมา เหมืองทุกเหมืองต้องมีการทำข้อมูลพื้นฐาน มีการตรวจควบคุมการทำงาน การให้ความร่วมมือกับชุมชน และอีกมากมายที่ใช้บรรทัดฐานจากอัครามาเป็นเกณฑ์เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นมา