“บิ๊กฉัตร” ยันคุมระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาได้ ชี้ยังน้อยกว่าปี 54 มั่นใจไม่กระทบ กทม.

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า ขณะนี้หมดความกังวลเรื่องพายุขนุนแล้ว แต่ประเทศไทยยังคงมีฝนตกอันเนื่องมาจากร่องมรสุมพาดผ่าน ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ยังคงมีฝนตกอยู่ โดยในที่ประชุม ครม.ได้เรียนให้นายกฯทราบว่า สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือกำลังเผชิญ 2 เรื่องคือ 1.ร่องมรสุมพาดผ่าน และ 2.เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำเต็มความจุแล้ว ทำให้ต้องมีการระบายน้ำจากเขื่อนออกมา จะส่งผลกระทบต่อลุ่มน้ำชี ตั้งแต่ จ.มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร ทำให้น้ำที่ท่วมอยู่แล้ว 20–30 ซม. มีปริมาณที่สูงขึ้นมา ซึ่งน้ำทั้งหมดจะลงไปที่แม่น้ำโขง ได้ให้กรมชลประทานติดตั้งเครื่องผลักดันที่ปากแม่น้ำโขงเพิ่มเติมแล้ว ส่วนแม่น้ำมูลจะยังไม่มีผลกระทบเท่าไร

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ส่วนภาคเหนือที่เป็นส่วนต้นของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้มีการสั่งการปิดการระบายน้ำที่เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมแล้ว โดยทั้งสองเขื่อนยังสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก ปัจจุบันจะมีแต่น้ำจากลุ่มน้ำยมเท่านั้นที่ลงมา โดยได้ใช้พื้นที่แก้มลิงธรรมชาติที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และพื้นที่ใกล้เคียงรองรับน้ำจากลุ่มน้ำยม ที่ขณะนี้เต็มความจุที่ 450 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว อย่างไรก็ตาม น้ำทั้งหมดที่ลงมาจากลุ่มน้ำปิง วัง ยม จะลงมาที่ จ.นครสวรรค์ ที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังแตกต่างจากเมื่อปี 2554 ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 4,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยเมื่อน้ำมาถึง จ.นครสวรรค์ จะมีการปัดออกทางซ้ายและขวาก่อนที่จะถึงเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท โดยเขื่อนเจ้าพระยามีการควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านไว้ที่ 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปัจจุบันอยู่ที่ 2,597 ลูกบาศก์เมตร

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า จะพยายามควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านที่เขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้น้ำที่ลงมาข้างล่างจนกระทั่งถึง อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา จะอยู่ที่ประมาณ 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังห่างจากจุดวิกฤตอยู่มาก ดังนั้น การบริหารจัดการแบบนี้จะทำให้ตั้งแต่ใต้เขื่อนเจ้าพระยาลงมา ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี จะมีผลกระทบ แต่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่นอกคันกั้นน้ำ ขณะที่เหนือ จ.นครสวรรค์ขึ้นไป หากปริมาณฝนลดลงจะปรับลดการระบายน้ำ อย่างไรก็ตาม ตรงนี้จะต้องดูวันต่อวัน ในวันที่ 18 ตุลาคม จะเดินทางไปเขื่อนเจ้าพระยาอีกครั้ง ส่วนผลกระทบที่เกิดในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เกิดจากฝนตกต่อเนื่องในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ส่วนที่ จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี จะได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนด้วย ทำให้การระบายช้าลง ยืนยันว่าน้ำเหนือจากจะไม่ส่งผลกระทบต่อ กทม. ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม นายกฯสั่งการแล้วว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้ทุกส่วนราชการเข้าไปดูแล ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการนำเสนอเพื่อของบประมาณเพื่อนำไปดูแลพื้นที่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบแล้ว

ที่มา มติชนออนไลน์