รัฐปรหารเมียนมา ทำโครงการเมืองอัจฉริยะอมตะ ในย่างกุ้งสะเทือน

การเมืองเมียนมาทำโครงการ YASEC “อมตะ” ในย่างกุ้งสะเทือนกระทบรายได้ ชะลอลงทุนแต่ยังไม่ถอนโปรเจ็กต์

“อมตะ” กุมขมับโควิด-19 และการเมืองในเมียนมา กระทบโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอมตะย่างกุ้ง หรือ Yangon Amata Smart & Eco City (YASEC) หนัก 20 นักลงทุนส่อแวววืด ชะลอลงทุนไปแบบไม่มีกำหนด จนกว่าการเมืองคลี่คลาย ส่งผลต่อการรับรายได้ปี 64 แน่นอน ย้ำยังไม่ถอนการลงทุน ตอนนี้ขอประเมินแบบวัน/วัน หวั่นการบอยคอตจากยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ซ้ำเติมการค้าหนักไปอีก

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด ( มหาชน) เปิดเผยถึงสถานการณ์ในเมียนมา ว่า เมียนมาประสบกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ขณะที่ระบบสาธารณสุขค่อนข้างไม่ดี บวกกับความไม่สงบทางด้านการเมืองในตอนนี้ นับว่าเป็นผลกระทบ 2 เด้งกับโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอมตะย่างกุ้ง หรือ Yangon Amata Smart & Eco City (YASEC) อย่างมาก

และยังมีความกังวลว่าตะวันตกทั้งอเมริกากับยุโรป รวมถึงญี่ปุ่นจะมีการบอยคอต ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนของอมตะฯ ที่เตรียมลงทุนในย่างกุ้งกว่า 20 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นนักลงทุนต่างชาติ 100% ส่วนใหญ่เป็นญี่ปุ่น

ขณะนี้ อมตะฯ จึงต้องประเมินสถานการณ์แบบวัน/วัน สัปดาห์/สัปดาห์ ซึ่งแน่นอนว่าการลงทุนในโครงการ YASEC ได้รับผลกระทบต้องชะลอออกไปก่อนแน่นอน ส่วนการจะเดินหน้าต่ออย่างไรต้องอยู่ที่นโยบายของรัฐบาลใหม่

“เราก็ยังตอบไม่ได้ว่ารัฐจะมองอย่างไร ซึ่งนั่นก็จะส่งผลต่ออนาคตของอมตะฯ เช่นกัน เราห่วงเรื่องการบอยคอต เพราะสิ่งที่เมียนมาจะโดน คือ 1.นโยบายการค้าโดนแน่ ๆ 2.บริษัทที่จะเข้าไปลงทุนน้อยลง 3.จะไม่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินกู้ต่าง ๆ แน่นอน”

นอกจากนี้ อมตะฯ ยังกังวลความรุนเเรงที่อาจเพิ่มสูงขึ้น หากประชาชนออกมาประท้วงไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของรัฐใหม่ครั้งนี้ ไม่ใช่กระทบแค่อมตะฯ แต่จะกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมรถยนต์ ที่เดิมโตแบบเท่าตัว ทั้งหมดจะถูกฟรีช ขณะเดียวกันการส่งออกจากเมียมามาไทยปลายทางที่แหลมฉบัง การขนส่งจากใช้เวลา 1 วันครึ่ง คือความสะดวก แต่หากรุนแรงภาคการขนส่งจะชะงักไปด้วย

สำหรับโครงการ YASEC อมตะฯ ได้ใช้เวลาในการเจรจาศึกษาการลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปี กว่าจะได้ดีลนี้ โดยการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดจะอยู่ที่ 5,000 ไร่ จะเเบ่งเป็นเฟสแรกเริ่มที่ 500 ไร่ ใช้เงินลงทุนไปก่อนก้อนแรก 140 ล้านบาท เป็นการเช่าที่จากรัฐบาลเมียนมา ตรงนี้ก็ถือเป็นความเสี่ยง แต่ยอมรับว่าการทำสัญญาเช่าที่ดินเหล่านี้ หากเราไม่ทำผิดสัญญารัฐบาลจะไม่กล้าที่จะยกเลิกสัญญาได้ เพราะเขาก็ห่วงที่จะกระทบความเชื่อมั่นเช่นกัน

ทั้งนี้โครงการ YASEC เดิมตั้งเป้าที่จะรับรู้รายได้ภายในปี 2564 นี้ มียอดขาย 100-300 ไร่ ซึ่งหากเหตุการณ์ยังไม่คลี่คลายปีนี้คงยากที่จะนับรู้รายได้ และนั่นจะกระทบต่ออมตะฯ ตามมา

“ถามว่าการลงทุนในเมียนมาเราจะหยุดไหมเราต้องดูสถานการณ์ก่อน เรายังไม่รู้โปรเจ็กต์เราจะเกิดอะไรขึ้นเพราะเหตุการณ์เพิ่งเกิดยากที่จะตอบตอนนี้ แต่คิดว่ารัฐบาลเขาเองคงไม่หยุดโครงการเรา เพราะเราสร้างงานสร้างเงินให้เขา”

อย่างไรก็ตามหากขั้นเลวร้ายอมตะฯ ก็ต้องมีการปรับแผนการลงทุนใหม่ คือการชะลอการลงทุนไปก่อนจนกว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ยังไม่เพิ่มเงินลงไปใหม่ และจะไม่ถอนการลงทุนออกจากเมียนมา สำหรับโอกาสที่นักลงทุนของอมตะฯ จะเบนเข็มมาลงทุนไทยแทน ก็เป็นไปได้ แต่นั่นต้องเป็นขั้นที่สถานการณ์ในเมียนมารุนแรงมาก เขาจึงจะตัดสินใจย้ายออกมา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากการลงทุนในแต่ละประเทศ จะต้องทำการศึกษาโครงการ (FS) ภายใต้เงื่อนไขและกฎกติกาที่แตกต่างกัน มันต้องใช้เวลา

ซึ่งอมตะฯ เองก็พร้อมที่จะรับนักลงทุนเหล่านั้นเป็นอีกทางเลือกสำหรับที่ไทย ส่วนนักลงทุนรายใดต้องการค่าแรงต่ำก็มีทางเลือกคือที่อมตะเวียดนาม