TU ลงทุน Plant-based Food ขยายธุรกิจใหม่ คาด 5 ปี รายได้ 1.6 แสนล้าน

ไทยยูเนี่ยน (TU) พร้อมลุยธุรกิจ Plant-based Food โปรตีนทางเลือก มองโอกาสขยายลงทุนธุรกิจใหม่ร่วม 6 สตาร์ตอัพ ตั้งเป้ารายได้ 5 ปี โตเฉลี่ยปีละ 5% คาดมูลค่าราว 1.6 แสนล้านบาท พร้อมลุยอาหารกัญชงหากกฎหมาย นโยบายชัดเจน

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เปิดเผยว่า ภายใน 2568 หรืออีก 5 ปี บริษัทตั้งเป้า รายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 5% โดยคาดว่าจะมีรายได้แตะ 1.6 แสนล้านบาท จากปี 2563 ที่มีรายได้อยู่ที่ 1.32 แสนล้านบาท โดยรายได้ที่ตั้งเป้าในอนาคตนั้นจะมาจากภาพรวมธุรกิจใหม่ ๆ และนวัตกรรมจากสตาร์ตอัพ

โดยปีนี้จะเริ่มเห็นการลงทุนโปรตีนทางเลือก (Plant-based Food) อาหารทางเลือกของผู้บริโภคที่ใส่ใจอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ไม่ใช้เนื้อสัตว์ ซึ่งจะเริ่มผลิตขายตลาดต่างประเทศก่อน คาดว่าปี 2564 จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และภายในอีก 5 ปี จะสามารถเพิ่มรายได้ 1,000 ล้านบาท ซึ่งโอกาสของธุรกิจนี้เป็นเทรนด์บริโภคที่มีอัตราการเติบโตสูง รวมทั้งกำไรสูงกว่าธุรกิจอาหารกระป๋องอีกด้วย

ธีรพงศ์ จันศิริ

ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนได้ลงทุนในสตาร์ตอัพ 6 บริษัทด้วยกัน ทั้งนี้ ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนอีก 2 แห่ง ที่เน้นธุรกิจใหม่ ๆ ในการนำนวัตกรรมเข้ามาเป็นหลักในการทำธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ลงทุนในสตาร์ตอัพ 4 บริษัทด้วยกัน

โดย 3 บริษัทแรกจากโครงการสเปซ-เอฟ ได้แก่ มันนา ฟู้ดส์ บริษัทโปรตีนทางเลือกอัลเคมี ฟู้ดเทค ธุรกิจนวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ป่วย และ บริษัท ไฮโดรนีโอ บริษัทเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่วนบริษัทที่ 4 คือ วิสไวร์ส นิวโปรตีน อีกหนึ่งบริษัทเงินทุนสัญชาติสิงคโปร์ ที่ทำธุรกิจบริหารกองทุนที่มองหาโอกาสความร่วมมือและร่วมลงทุนในเทคโนโลยีอาหาร

ถึงแม้ว่าตลาดโปรตีนทางเลือกในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่สำหรับตลาดสินค้าประเภทดังกล่าวในระดับโลกนั้นถือว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่สูง โดยปัจจุบันตลาดโปรตีนทางเลือกของโลกนั้นมีขนาดถึง 12,800 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีแนวโน้มว่าจะเติบโตในช่วงระหว่าง ปี 2562-2568 ถึง 6.8% เฉลี่ยต่อปี

หลังจากนี้จะเห็นโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ของบริษัทมากขึ้น ดังนั้น ปีนี้ 2564 ได้วางงบลงทุน 6,000-6,500 ล้านบาท เป็นงบลงทุนปกติ และลงทุนธุรกิจใหม่ แบ่งเป็น โครงการโปรตีนจากพืช 800 ล้านบาท โรงงานอาหารสำเร็จรูป 1,000 ล้านบาท และโครงการห้องเย็น อื่น ๆ ด้วย

ทั้งนี้ บริษัทยังสนใจกัญชง กัญชา นำมาประกอบการหาร มีศูนย์นวัตกรรม (GIC) อยู่ระหว่างศึกษาธุรกิจกัญชง นำน้ำมันจากกัญชงเพื่อประกอบอาหาร เมื่อกฎหมาย รายละเอียดของกฎหมายลูกมีความชัดเจน บริษัทมีความสนใจจะทำผลิตภัณฑ์ทูน่าผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไป

สำหรับไทยยูเนี่ยนรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2563 มียอดขายอยู่ที่ 33,464 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนหน้า และกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 1,938 ล้านบาท สูงขึ้น 26.1% ในขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.9%

ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องมียอดขายอยู่ที่ 14,440 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8% ในขณะที่ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่ามียอดขายเพิ่มขึ้น 8% อยู่ที่ 5,287 ล้านบาท เนื่องจากผู้บริโภคเลือกซื้ออาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารกระป๋องที่สามารถเก็บไว้ได้นานมากขึ้น ในช่วงที่ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมียอดขาย 13,738 ล้านบาท ลดลง 6.5% ลดลงเล็กน้อยในไตรมาสสุดท้ายของปีสำหรับผลประกอบการประจำปี 2563 ไทยยูเนี่ยนโชว์ผลงานยอดเยี่ยม โดยมียอดขายอยู่ที่ระดับ 132,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% มีกำไรสุทธิ 6,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.7% โดยบริษัทฯ จะจ่ายเงินปันผล 40 สตางค์/หุ้น เพิ่มขึ้น 81.8% รวมทั้งปีปันผล 72 สตางค์/หุ้น เพิ่มขึ้น 53.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

“ไทยยูเนี่ยนมีผลประกอบการที่เข้มแข็งในปีที่ผ่านมา แม้ว่าเราจะต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม เราจะเห็นว่าความต้องการผู้บริโภคที่เลือกซื้อสินค้าของไทยยูเนี่ยนนั้นสูงขึ้น เนื่องจากคนหันมาทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน บวกกับผู้บริโภคหันมาใส่ใจในเรื่องสุขภาพและอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้นด้วย ไทยยูเนี่ยนยังคงให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน คู่ค้าและระบบซัพพลายเชนทั้งหมด เพื่อที่เราจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และผลิตสินค้าที่ปลอดภัยได้คุณภาพให้กับผู้บริโภคทั่วโลก”

นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไปพร้อมกัน โดยให้ความสำคัญกับงานด้านความยั่งยืนของบริษัท ด้วยกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัทหรือ SeaChange® ในการทำหน้าที่สร้างมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 บริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับเข้าเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ DJSI เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน และได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 2 ของโลกในดัชนีอุตสาหกรรมประเภทผลิตภัณฑ์อาหาร

รวมทั้งยังได้รับการจัดอันดับติด 1 ในบริษัทที่มีผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนสูงสุดในโลก ระดับโกลด์ คลาส (Gold Class) ในรายงาน The Sustainability Yearbook 2021 ของ S&P Global นับเป็น 1 ใน 5 บริษัทอาหารทะเลชั้นนำของโลกที่ได้ระดับโกลด์ คลาส ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร จากการประเมินด้านความยั่งยืนระดับโลกของ S&P Global ที่มีการประเมินบริษัทมากกว่า 7,000 บริษัท จาก 61 อุตสาหกรรมทั่วโลก