ติวเข้มเอกชนใช้ “ต้นไม้” วางหลักประกันเงินกู้

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ติวเข้มผู้รับหลักประกัน และผู้บังคับหลักประกัน ให้มีความรู้ในการพิจารณาทรัพย์สินที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ 6 ประเภท พร้อมเน้น “ไม้ยืนต้น” เป็นพิเศษ หวังให้สถาบันการเงินรับเป็นหลักประกันเพิ่มมากขึ้น

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยภายหลังการเปิดงานสัมมนา เรื่อง “กลยุทธ์ในการพิจารณาทรัพย์หลักประกันและการบังคับหลักประกัน” ณ ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่า กรมฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านหลักประกันทางธุรกิจ มาให้ความรู้แก่ผู้รับหลักประกัน ได้แก่ สถาบันการเงินและผู้รับหลักประกันอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริ่ง ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อแบบลิสซิ่ง และผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เป็นต้น และผู้บังคับหลักประกัน (ในกรณีที่ธุรกิจนำทรัพย์สินประเภทกิจการมาเป็นหลักประกัน) เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการพิจารณาทรัพย์สินหลักประกัน 6 ประเภท การประเมินมูลค่าไม้ยืนต้น และการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงการบังคับทรัพย์ประเภทกิจการ ซึ่งจะทำให้ผู้รับหลักประกันมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพิจารณาหลักทรัพย์แต่ละประเภท และส่งผลให้มีการให้เงินทุนแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่นำทรัพย์สินประเภทต่างๆ มาเป็นหลักประกันได้เพิ่มขึ้น

สำหรับทรัพย์สินที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันได้ตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ มีจำนวน 6 ประเภท ได้แก่ 1.กิจการ 2.สิทธิเรียกร้อง เช่น บัญชีเงินฝาก สิทธิการเช่า ลูกหนี้การค้า 3.สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง เครื่องจักร รถยนต์ 4.อสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น ที่ดินจัดสรร/หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม 5.ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และ 6.ทรัพย์สินอื่น ซึ่งขณะนี้ คือ ไม้ยืนต้น ที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ โดยไม่ต้องส่งมอบการครอบครองให้แก่เจ้าหนี้ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจยังสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นต่อยอดทางธุรกิจหรือผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป

ทั้งนี้ กรมฯ ได้เชิญวิทยากรจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นธนาคารแรกที่รับไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันแล้ว มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องวิธีการประเมินมูลค่าไม้ การพิจารณาประเภทไม้ยืนต้น เพราะที่ผ่านมา การนำทรัพย์สินประเภทต้นไม้มาเป็นหลักประกัน ยังมีข้อจำกัดของธนาคารพาณิชย์ ที่ยังไม่รับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกัน เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ และไม่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินมูลค่าต้นไม้ รวมถึงการพิจารณาไม้ยืนต้นและแนวทางการติดตามตรวจสอบ ซึ่งจะสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่งธนาคารพาณิชย์และผู้บังคับหลักประกันให้สามารถนำไปปรับใช้กับการพิจารณาปล่อยสินเชื่อได้

ขณะเดียวกัน ได้มีการถ่ายทอดประสบการณ์ตรง เรื่อง ประสบการณ์ในการบังคับทรัพย์ประเภทกิจการจากผู้บังคับหลักประกัน เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานให้กับผู้บังคับหลักประกัน หากเกิดกรณีที่ผู้ขอกู้เงิน ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เพราะหลักประกันแต่ละประเภท มีแนวทางการดำเนินการที่ต่างกัน

อย่างไรก็ตาม กรมฯ มีกำหนดที่จะจัดสัมมนาครั้งต่อไป ในเดือนพ.ค.2564 โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามการเปิดรับสมัครได้ที่กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ เบอร์โทร 02 547 4944  Email : [email protected]

ตั้งแต่กรมฯ ได้เริ่มจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ตั้งแต่ 4 ก.ค.2559 ถึงปัจจุบัน มีผู้รับหลักประกันแล้วจำนวน 317 ราย มีผู้บังคับหลักประกันจำนวน 333 ราย ส่วนสถิติการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค.2564) มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจจำนวน 592,748 คำขอ จำนวนเงินสูงสุดที่ใช้ทรัพย์สินเป็นหลักประกัน รวมทั้งสิ้น 9,431,986 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้อง ยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด ร้อยละ 76.81 (มูลค่า 7,244,831 ล้านบาท) รองลงมา สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ เครื่องบิน สัตว์พาหนะ ร้อยละ 23.15 (มูลค่า 2,183,525 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา ร้อยละ 0.02 (มูลค่า 1,985ล้านบาท) กิจการ ร้อยละ 0.01 (มูลค่า 1,114 ล้านบาท) อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ร้อยละ 0.004 (มูลค่า 397 ล้านบาท) และไม้ยืนต้น ร้อยละ 0.001 (มูลค่า 134 ล้านบาท)