เปิดประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ ด้วยรูปแบบ PSC ธ.ค.นี้

กรมเชื้อเพลิงฯเตรียมเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมเอราวัณ-บงกช คาดกระบวนการเริ่มเดินหน้าธ.ค.นี้ ล่าสุดลงพื้นที่แหล่งผลิตปิโตรเลียมวิเชียรบุรี เช็กระบบความพร้อม CNG Mobile

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยถึง การเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2 แหล่ง คือ เอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 ว่าความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอร่างการกำหนดขอบเขตและเงื่อนไขการเปิดประมูลทีโออาร์ (TOR) แบบแบ่งปันผลผลิตพีเอสซี (PSC) ให้ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณา ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อประกาศเป็นทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลแหล่งสัมปทานหมดอายุทั้ง 2 แหล่ง โดยคาดว่ากระบวนการจะเริ่มได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยจะใช้ระยะเวลา 7 เดือน จึงจะสามารถประกาศผู้ชนะการประมูลทั้งสองแหล่งในช่วงกลางปี 2561

ปัจจุบันมีเอกชนสนใจเข้าร่วมประมูลหลายราย โดยเฉพาะจากปัจจัยราคาน้ำมันดิบที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้การเข้าร่วมประมูลของผู้ประกอบการในครั้งนี้ มีความน่าสนใจมากขึ้น ทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างชาติหลายประเทศ โดยขณะนี้มีผู้สนใจประมูลหลายรายอยู่ระหว่างขอดูความชัดเจน ทีโออาร์ 2 แหล่ง ซึ่งทางกรมฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมของรูปแบบการให้สัมปทาน หลังจากนั้นโดยจะพิจารณาด้านคุณสมบัติและด้านเทคนิคต่อไป

ล่าสุด กรมเชื้อเพลิงฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแหล่งสํารวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งวิเชียรบุรี อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ และโครงการติดตั้งเครื่องผลิต-อัดก๊าซธรรมชาติ ที่จําเป็นต้องเผาทิ้งเพื่อเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์แบบเคลื่อนย้ายได้ (CNG Mobile) ระหว่างวันที่ 4–5 พฤศจิกายน 2560 ว่ปัจจุบันแหล่งวิเชียรบุรี เป็นแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมบนบก ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ดำเนินการโดยกลุ่มบริษัท อิโค่ โอเรียนท์ สำหรับบริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมใน 2 แปลงด้วยกัน ได้แก่ แปลงสำรวจหมายเลข L44/43 ซึ่งมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 953.76 บาร์เรลต่อวัน และก๊าซธรรมชาติ 0.53 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแปลงสำรวจหมายเลข L33/43 ซึ่งมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 21.54 บาร์เรลต่อวัน และก๊าซธรรมชาติ 0.002 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยบริษัทยังคงรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมได้ไปจนถึงการสิ้นสุดอายุสัมปทาน ในปี 2575

สำหรับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโดยรวมของแหล่งผลิตดังกล่าว ประกอบด้วย แหล่งแหล่งนาสนุ่นตะวันออก บ่อรังเหนือ วิเชียรบุรีส่วนขยาย วิเชียรบุรีส่วนขยายตะวันออก ท่าโรงตะวันออก และท่าโรงเหนือ จะมีระบบแยกสถานะที่ถังแยกสถานะ (Separator) ให้ได้น้ำมันดิบเพื่อนำไปจำหน่ายให้กับโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ส่วนของก๊าซธรรมชาติ ที่ปะปนอยู่ในน้ำมันดิบ จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตในบางส่วน และส่วนที่เหลือจะมีการเผาทิ้งเพื่อความปลอดภัย สำหรับน้ำที่แยกได้จากกระบวนการผลิตจะอัดกลับเข้าสู่หลุมผลิตใต้ดิน โดยจะไม่มีการปล่อยของเสียออกสู่ภายนอกสู่พื้นที่สาธารณะ

นายวีระศักดิ์กล่าวว่า สำหรับโครงการติดตั้งเครื่องผลิต-อัดก๊าซธรรมชาติที่จำเป็นต้องเผาทิ้ง เพื่อเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์แบบเคลื่อนย้ายได้ (CNG Mobile) นั้น จะมีการนำก๊าซธรรมชาติที่ได้จากการกระบวนการผลิตน้ำมันดิบที่จำเป็นต้องเผาทิ้งมาใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม และการขนส่ง โดยจะมีการติดตั้งที่หลุมผลิตหลัก WBEXT-2AST2 และหลุม WBEXT-2BST2 (หลุมสนับสนุนการผลิต) ซึ่งจะผ่านกระบวนการแยกของเหลวออก แล้วก๊าซจะไหลผ่านมาตรวัดอัตราการไหล (Metering) เพื่อวัดปริมาณในการซื้อขายก๊าซธรรมชาติก่อนส่งเข้ากระบวนการอัดก๊าซธรรมชาติของบริษัท SCAN INTER และบรรจุก๊าซส่งไปยังโรงงานอุตสาหกรรมหรือปั๊มก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ NGV ต่อไป ซึ่งในกรณีที่ไม่สามารถส่งก๊าซธรรมชาติให้กับบริษัท SCAN INTER ได้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตจะทำการสลับวาล์วเพื่อเปลี่ยนเส้นทางการส่งก๊าซธรรมชาติไปยังจุดเผาทิ้งFlare ก่อนการปิดวาล์วที่หัวหลุมผลิตเพื่อความปลอดภัย

สำหรับการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติที่จำเป็นต้องเผาทิ้ง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเคยดำเนินการมาแล้วหลายโครงการ คือ โครงการนำก๊าซธรรมชาติที่จำเป็นต้องเผาทิ้งจากแหล่งน้ำมันดิบหนองตูม จังหวัดสุโขทัย มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ตำบลหนองตูม และมาใช้ผลิตก๊าซ LNG เพื่อจำหน่าย โครงการนำก๊าซธรรมชาติที่จำเป็นต้องเผาทิ้งจากแหล่งน้ำมันดิบเสาเถียรและแหล่งน้ำมันดิบประดู่เฒ่า จังหวัดสุโขทัย มาผลิตกระแสไฟฟ้าในชุมชน และสำหรับโครงการติดตั้งเครื่องผลิต-อัดก๊าซธรรมชาติที่จำเป็นต้องเผาทิ้ง เพื่อเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์แบบเคลื่อนย้ายได้ (CNG Mobile) ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีการดำเนินการเพื่อให้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสูงสุด

“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขการให้สัมปทาน และระเบียบด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ของประเทศแล้ว ยังมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำก๊าซธรรมชาติไปใช้ประโยชน์แทนการเผาหรือปล่อยทิ้ง เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมอีกด้วย” นายวีระศักดิ์กล่าว