โรงงาน 11,000 แห่ง ผ่านประเมิน Thai Stop COVID Plus

โรงงานอุตสาหกรรมทยอยประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID Plus เรียบร้อยกว่า 11,177 แห่ง จาก 64,000 แห่ง หวั่นโดนบทลงโทษ หลังกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมบุกตรวจโรงงานทั่วประเทศ จี้รายงานทุก 2 สัปดาห์ทั้งรายเล็กรายใหญ่

วันที่ 22 มิถุนายน 2564 รายงานข่าวระบุว่า หลังจากรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ในสถานประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม โดยขอให้โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ประเมินตนเองผ่านแบบประเมินตนเอง Thai Stop COVIF plus และ Thai Save Thai ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 หากไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินการลงโทษ

ล่าสุดพบว่ามีจำนวนโรงงานที่ประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVIF Plus แล้ว 11,177 แห่ง คิดเป็น 17% ของโรงงานทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 64,000 โรง

ซึ่งแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus จะประกอบไปด้วย 44 ข้อ โดยจะเป็นคำถามเกี่ยวกับเกณฑ์การประเมินตนเองของสำนักงาน องค์กร สถานประกอบกิจการ หรือโรงงาน ตามมาตรการหลัก เช่น ด้านการป้องกัน โรงงานของท่านตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทุกคนก่อนเข้าภายในบริเวณสำนักงาน องค์กร สถานประกอบกิจการ หรือโรงงานหรือไม่

มีมาตรการติดตามข้อมูลของผู้ปฏิบัติงาน เช่น การใช้แอปพลิเคชั่นตามที่ทางราชการกำหนด (เช่น โปรแกรมไทยชนะ) หรือใช้มาตรการควบคุมการเข้า-ออกสถานที่ด้วยการบันทึกข้อมูลหรือไม่

ให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้มาติดต่อทุกคนสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ภายในสถานประกอบการหรือไม่

มีมาตรการควบคุมจำนวนผู้ปฏิบัติงานไม่ให้แออัด โดยลดการรวมกลุ่มระหว่างบุคคล เช่น หลีกเลี่ยงการจัดประชุมที่มีผู้ร่วมประชุมจำนวนมาก โดยการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร การอนุญาตให้ทำงานที่บ้าน กรณีงานสามารถทำที่บ้านได้ (work from home) จัดเวลาทำงาน เวลาพัก และเวลารับประทานอาหาร ให้เหลื่อมกันหรือไม่

ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม จัดให้มีการระบายอากาศที่เหมาะสม โดยตรวจสอบประสิทธิภาพและทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ กรณีสถานประกอบกิจการมีประตู หน้าต่าง ควรเปิดประตู หน้าต่าง เป็นระยะเพื่อให้อากาศถ่ายเทหรือไม่

สำหรับมาตรการเสริม (สถานประกอบการที่มีจำนวนพนักงานตั้งแต่ 51 คนขึ้นไป) เช่น มีนโยบายป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 และคณะกรรมการบริหารสถานการณ์จัดตั้ง คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน COVID-19 Steering Committee หรือไม่

มีแผนป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) เพื่อรองรับกรณีพบพนักงานติดเชื้อ และมีการซักซ้อมแผนหรือไม่