ไทย-สปป.ลาว เร่งเครื่องขยายการค้า ปี’64 ทะลุ 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

“จุรินทร์” ถกทูต สปป.ลาว ตกลงร่วมเดินหน้าขยายมูลค่าการค้า 2 ประเทศให้เติบโตตามเป้าหมาย 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมขยายการเปิดด่านเป้าหมายอีก 7 ด่าน ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์โควิด-19

วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายแสง สุขะทิวง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ว่า ตนได้เชิญท่านเอกอัครราชทูต สปป.ลาว ประจำประเทศไทย มาหารือในเรื่องการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน โดยมีเป้าหมายในปี 2564 อยู่ที่ 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยพี่ที่ผ่านมามูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 6,300 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งยังทำกว่าเป้าหมาย ทั้งนี้ การค้าส่วนใหญ่กว่า 96.15% เป็นการค้าชายแดน ดังนั้น จึงได้หารือกับท่านทูตว่า อยากเห็นการเปิดด่านไทย-สปป.ลาว ให้เกิดขึ้นโดยเร็วเท่าที่ทำได้ ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดโควิด-19

โดยปัจจุบันไทย-สปป.ลาว มีจุดผ่านแดน ระหว่างกันอยู่ 49 จุด ขณะนี้เปิดดำเนินการอยู่เพียง 14 จุด ถ้ามีจุดผ่านแดนที่จะเปิดเพิ่มได้ ก็ขอความกรุณา สปป.ลาว ได้พิจารณาร่วมกับไทย โดยจุดผ่านแดนที่เป็นเป้าหมายสำคัญในช่วงเวลาอันใกล้ มีอยู่ด้วยกัน 7 จุดผ่านแดน ประกอบด้วย 1.จุดผ่านแดนถาวรปากแซง นาตาล จ.อุบลราชธานี 2.จุดผ่านแดนถาวรเชียงคาน จ.เลย 3.จุดผ่านแดนถาวรท่าเรือหนองคาย 4.จุดผ่านแดนถาวรท่าเทียบเรือเทศบาลนครพนม 5.จุดผ่านแดนถาวรท่าเทียบเรือ จ.มุกดาหาร 6.จุดผ่อนปรนการค้าบ้านแจมป๋อง จ.เชียงราย และ7.จุดผ่อนปรนการค้าบ้านหม้อ จ.หนองคาย

นอกจากนี้ ได้ขอให้ท่านทูตช่วยประชาสัมพันธ์งานแสดงสินค้าของไทยใน สปป.ลาว ในช่วงครึ่งปีหลัง 3 งาน คือ 1.งานแสดงสินค้า Mini Thailand Week 2021 ที่ตลาดคำม่วน เมืองท่าแขก ระหว่างวันที่ 21-25 ก.ค.2564 ซึ่งเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค 2.ประเทศไทย ผู้ประกอบการสินค้าไทย จะร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ตริมปิงฝั่ง สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 27-29 ส.ค.2564 3.งาน Thai Seafood Festival ที่เวียงจันทร์เซ็นเตอร์ นครหลวงเวียงจันทน์ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ย.2564 เพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารทะเลให้ผู้บริโภคชาว สปป.ลาว ได้มั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของซีฟู้ดจากประเทศไทย

ส่วนประเด็นที่ท่านทูต สปป.ลาว ได้หยิบยกขึ้นมาประเด็นสำคัญ คือ อยากให้ประเทศไทยช่วยสนับสนุนการนำเข้าสินค้าเกษตรของฝั่งสปป.ลาว ทั้งน้ำตาลทราย เมล็ดกาแฟ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งตนแจ้งให้ทราบว่าประเทศไทยไม่ได้จำกัดในเรื่องของปริมาณการนำเข้า เพียงแต่ว่ารายละเอียดอื่น ขอให้ระดับเจ้าหน้าที่ได้เจรจากันต่อไป และอีกเรื่อง คือ กรณีที่ประเทศไทยกับ สปป.ลาว สามารถร่วมมือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาดร่วมกันในสินค้าที่เกี่ยวข้องกับศิลปหัตถกรรม หรือ OTOP ของ 2 ประเทศ ซึ่งได้มอบให้ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ประสานงานกับกระทรวงการค้าของ สปป.ลาว แล้ว

“ท่านทูตยังอยากเห็นการปลูกพืชเกษตร โดยเฉพาะพืชเกษตรอายุสั้น บริเวณแนวชายแดนที่อาจซ้ำซ้อนกับประเทศไทยว่าควรหารือร่วมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงผลผลิตล้นตลาด ซึ่งผมจะดำเนินการแจ้งให้กระทรวงมหาดไทย เจ้าของเรื่องที่มีคณะกรรมการเจรจาการค้าภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทยระหว่างพื้นที่ชายแดนที่ติดต่อกัน ให้หารือร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เช่น การกำหนดแผนการปลูกร่วมกันบริเวณแนวชายแดน การเตรียมการแปรรูปหรือการทำการตลาดร่วมกันต่อไปในอนาคต”

ปัจจุบัน การค้าระหว่างไทย-สปป.ลาว เป็นการค้าชายแดนถึง 96.15% โดยในช่วง 5 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 93,605 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% โดยไทยส่งออกไป สปป.ลาว มูลค่า 53,773 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.53% และนำเข้าจาก สปป.ลาว 5 มูลค่า 40,832 ล้านบาท ได้ดุลการค้ามูลค่า 11,940 ล้านบาท