สภาอุตสาหกรรม ชี้ เหตุการณ์โรงงานหมิงตี้ บทเรียนผังเมือง

สภาอุตสาหกรรมฯ ชี้ เหตุการณ์ระเบิดและไฟไหม้บริเวณโกดังเก็บสารเคมีภายในโรงงานหมิงตี้ เป็นบทเรียน มาตรฐานในโรงงาน ผังเมือง ชุมชน สิ่งแวดล้อม จี้รัฐออกมาตรการจูงใจโรงงานทุกขนาด ลดหย่อนภาษีที่ดิน ให้สามารถย้ายที่ตั้งโรงงานอยู่ภายใต้นิคมอุตสาหกรรมเพื่อความปลอดภัย

วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์ระเบิดและไฟไหม้บริเวณโกดังเก็บสารเคมีภายในโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่เป็นวงกว้าง สภาอุตสาหกรรมไม่ได้นิ่งนอนใจ

กรณีนี้เป็นบทเรียนในการพยายามผลักดันให้ทุกโรงงานยกระดับมาตรฐาน Green Factory ซึ่งนโยบายนี้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดก็ได้รับนำไปปฏิบัติ แต่ต้องยอมรับว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์การระบาดโควิด 19 มาก็ต้องกลับมาดูพื้นฐานของรายได้ของโรงงานและปัจจัยอื่นๆที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องตระหนักถึงที่ตั้งโรงงาน ชุมชน ภาษีที่ดิน และสิ่งแวดล้อม

โดยเหตุการณ์เมื่อวานนี้ ( 5 ก.ค.) สรุปโดยคร่าว จะเห็นว่าโรงงานส่วนใหญ่ที่ผ่านมาในอดีตได้พยายามตั้งห่างไกลชุมชน แต่ด้วยความเจริญก็เริ่มมีที่พัก ที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้โรงงานมากขึ้น จึงต้องกลับมาดูในเรื่อง ผังเมือง การขีดเส้นพื้นที่ผังเมือง สิ่งแวดล้อม

ที่สำคัญการทำให้โรงงานขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือ SME เข้ามาอยู่ในนิคม ที่ผ่านมานั้นมีอุปสรรค ซึ่งต้องยอมรับว่า ที่ดินมีราคาแพง แต่รัฐจะทำอย่างไรให้โรงงานทุกขนาด เข้ามาอยู่ในระบบมาตรฐานของนิคมอุตสาหกรรมได้ เพราะเมื่อโรงงานเข้าสู่นิคมฯ ชัดเจนว่า มีมาตรฐาน โดยห้ามสร้างที่พัก ที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้เคียง และบทบาท สิ่งเเวดล้อมมีการกำกับดูแล

ดังนั้น บทเรียนวันนี้ เมื่อหลายโรงงานไม่ได้ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม รัฐบาลต้องกลับมามองมาตรการจูงใจให้โรงงานทุกขนาดสามารถเข้าไปตั้งอยู่ในนิคมฯให้มีระบบความปลอดภัย กรณีโรงงานนี้ มองว่า ถ้าได้รับการลดหย่อนภาษีที่ดิน ลดหย่อนค่าธรรมเนียม และภาษีเงินได้จากการขายที่ดินแปลงนั้น ก็สามารถจูงใจให้โรงงานเหล่านี้ย้ายเข้าไปอยู่ในนิคมได้ จะสามารถช่วยให้จัดระเบียบโรงงานได้มากขึ้น เพราะหลายโรงงานไม่อยากย้ายเนื่องจากราคาแพง

“วันนี้ก็เป็นบทเรียน บทสะท้อนว่าเราต้องให้ความสำคัญระบบของโรงงาน มาตรฐานโรงงานมากขึ้น รัฐควรจะช่วยสร้างนิคมอุตสาหกรรม SME สร้างขึ้นมาในราคาที่ดินที่จับต้องได้ แต่ที่ผ่านมารัฐยังคงล็อกพื้นที่เพราะต้นทุนต่ำมาก ซึ่งในการประชุมที่ผ่านมาเราเคยเสนอไปแล้วให้ผลักดันในเรื่องนี้ เช่น ผู้ผลิตเครื่องสำอาง บริษัทเล็ก ๆ เยอะมาก ถ้ารัฐที่แหล่งที่ดินถูก ๆ ให้เขาสามารถสร้างโรงงานในนิคมจะสามารถควบคุมให้อยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ และไม่ใกล้ชุมชน”

ดังนั้น รัฐบาลควรต้องมีมาตรการ อาทิ ด้านภาษีเพื่อดึงดูดให้ทุกโรงงานยกระดับมาตรฐาน Green factory ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 6,000 โรงงาน แต่มาตรฐาน Eco อยู่ในระดับมาตรฐานขั้นสูงมากมีอยู่ 300 โรงงาน หลายๆปัจจัยยังไม่สามารถทำได้ และด้วยสถานการณ์โควิด 19 ทำให้หลายโรงงานชะลอการลงทุนสิ่งแวดล้อม และระยะหลังจนปัจจุบัน ทุกโรงงานพยายามเข้าระบบเพราะในอนาคตการส่งออกจะยิ่งเป็นอุปสรรค ด้วยหลายประเทศออกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐานการควบคุมคาร์บอน

“เหตุการณ์ระเบิด เพลิงไหม้เมื่อวานที่ใช้เวลากว่าจะสามารถควบคุมได้นานนั้น จะเห็นว่า แม้มาตรฐานภาครัฐมีอยู่แล้วเพียงแต่ว่าเวลาเกิดปัญหา เครื่องมือ ความพร้อม สาธารณูปโภค ต้องมาวิเคราะห์ หากเทียบกับโรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมจะมีครบ วันนี้ต้องกลับมาดูโรงงานเก่า ๆ ผังเมือง สุ่มเสี่ยงมลพิษ หรือมีอันตรายมากน้อยแค่ไหน และผลกระทบโควิดมีผลต่อโรงงานมากอย่างไร แม้โรงงานนี้ไม่ได้อยู่ในสมาชิกสภาอุตฯ แต่จะเป็นบทเรียน รัฐและเอกชน กลับมาดูมาตรการ ความเข้าใจและต้นตอของปัญหาตอนนี้อาจไม่ทราบชัด แม้ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับรัฐมาตลอด พยายามให้ความรู้ความเข้าใจมาตลอด แต่เรื่องสิ่งแวดล้อม ภาคเอกชนต้องใช้งบประมาณเอง รัฐควรช่วยกระตุ้นให้ลดหย่อนภาษีเรื่องที่ดิน และสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น”