“กระชายขาว-ฟ้าทะลายโจร” ระส่ำ พ่อค้าเหมาเกลี้ยงยกไร่ ให้ราคาเพิ่ม 3 เท่า

กระชาย

ตื่นยอดผู้ติดเชื้อโควิดพุ่ง ดันตลาดสมุนไพรคึก “กระชายขาว-ฟ้าทะลายโจร” สุดฮิต “พาณิชย์” จับตาราคาใกล้ชิดด้านวิสาหกิจชุมชนกาญจนบุรีอู้ฟู่ พ่อค้าดีลซื้อกระชายถึงไร่ ขายเกลี้ยงให้ราคา 3 เท่า ทะลุ กก.ละร้อย ก.เกษตรฯฉวยจังหวะเดินหน้าหนุนสมุนไพรแปลงใหญ่ 77 จังหวัด ปี’65 มนัญญาผนึกสาธารณสุข นำร่องปลูก “ฟ้าทะลายโจร” ส.ค.นี้

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ติดตามดูแลราคากระชายขาวอย่างใกล้ชิด หลังกระแสของการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้กระชายขาวเป็นที่ต้องการมากขึ้น ทั้งนี้ พืชกระชายขาวอยู่ในกลุ่มของพืชผัก เช่นเดียวกับพริก ขิง พริกไทย ซึ่งยังไม่ใช่สินค้าควบคุม

โดยการติดตามราคาเบื้องต้นพบว่า ราคาขายปรับเพิ่มขึ้นมาเฉลี่ย กก.ละ 50-60 บาท โดยราคาขายส่งเฉลี่ย กก.ละ 90-120 บาท ขณะที่ราคาขายปลีก กก.ละ 120-150 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางการขนส่งด้วย ขณะที่พื้นที่การเพาะปลูกอยู่ทั่วไป

แต่มีพื้นที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดนครปฐม กาญจนบุรี และราชบุรี ส่วนใหญ่จะเริ่มเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคม ผลผลิตจะออกในเดือนธันวาคมของทุกปี โดยปริมาณผลผลิตต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000-16,000 ตัน ล่าสุดปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 11,000-12,000 ตัน

“ราคาที่สูงขึ้นยังถือว่าสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และเป็นช่วงผลผลิตออกน้อย แต่กรมการค้าภายในติดตามดูแลปัญหานี้อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ ไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ คือ การซื้อขายที่ไม่เป็นธรรมประชาชนสามารถร้องเรียนเข้ามาที่สายด่วน 1569 จะมีเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในลงพื้นที่ไปตรวจสอบ หากพบว่ากระทำผิดจริงก็จะดำเนินการตามกฎหมาย”

นายประยุทธ์ จำนงกุล ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กระชาย อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนาระลอกใหม่ มีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อผลผลิตถึงไร่ เหมาสวนหมดเกลี้ยง และไม่พอขาย ราคาพุ่ง 2-3 เท่า จากเดือนก่อนเกษตรกรขายได้เฉลี่ย กก.ละ 23.33-30 บาท พอช่วงต้นเดือนกรกฎาคมขยับขึ้นต่อเนื่อง จนขณะนี้ราคา กก.ละ 105 บาทแล้ว

ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กระชายอยู่ในโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันมีสมาชิก 113 ราย มีพื้นที่ปลูกรวม 880 ไร่ โดยผลผลิต 60% ส่งจำหน่ายที่ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดศรีเมือง 30% และตลาดไท 10%

ด้านนางสาวศิริพร จูประจักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จ.ราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ติดตามวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กระชาย ต.บ่อพลอย อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เมื่อมิถุนายน 2564 พบว่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างรายได้กลุ่มเกษตรกรเพิ่มขึ้นด้วยการพัฒนาคุณภาพ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต และการใช้สารชีวภัณฑ์ตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ จนสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 16.67% เพิ่มผลผลิตได้ 30%

สำหรับพันธุ์กระชายที่ได้รับนิยมปลูก คือ พันธุ์รากกล้วย มีลักษณะเด่น คือ รากยาว ตรงและอวบ เหมือนกับรากกล้วย ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง น้ำหนักดี โดยเกษตรกรจะคัดเลือกพันธุ์กระชายที่แก่จัดอายุ 11-12 เดือน ที่มีความสมบูรณ์ ปราศจากเชื้อโรค เก็บไว้ในที่แห้งและเย็นประมาณ 1-3 เดือน

สำหรับสถานการณ์การผลิตกระชายของกลุ่ม ปี 2564 มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไร่ละ 40,455 บาท สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ช่วงที่เหมาะสมอยู่ในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ระยะเวลาปลูก 8-12 เดือน ผลผลิตจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ผลผลิตรวม 2,554 ตัน/รุ่น ผลผลิตเฉลี่ย 5,235 กิโลกรัมต่อไร่ ผลตอบแทนเฉลี่ย 122,132 บาทต่อไร่ มีกำไรเฉลี่ย 81,677 บาทต่อไร่ หากคำนวณจากราคาขาย เดือนมิถุนายน 2564 เฉลี่ย กก.ละ 23.33 บาท จะเห็นว่าผลตอบแทนของทั้งกลุ่มมีมูลค่ากว่า 59 ล้านบาทต่อรุ่น

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงเกษตรฯได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาพืชสมุนไพรไทย เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งตั้งคณะอนุกรรมการวัตถุดิบสมุนไพร และคณะทํางานขับเคลื่อนพัฒนาผลิตผลสมุนไพรที่มีศักยภาพ มาขับเคลื่อนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

จากแนวโน้มการบริโภคสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในไทย ตั้งแต่ปี 2560-2563 มีอัตราการเติบโตประมาณ 10% ต่อปี ส่งผลให้พื้นที่ปลูกสมุนไพรเพิ่มขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำแผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกพืชสมุนไพร (land suitability) ที่สำคัญ และเป็นที่ต้องการของตลาด 24 ชนิด ได้แก่ ขมิ้นชัน ไพล บัวบก กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร กระชายเหลือง กระวาน ข่า ขิง คำฝอย ตะไคร้ บุก พริกไทย ว่านชักมดลูก กระเจี๊ยบแดง เก๊กฮวย ดีปลี บอระเพ็ด พญายอ เพชรสังฆาต มะระขี้นก มะลิ มะแว้งเครือ และมะแว้งต้น

“ในปี 2565 ทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้เสนอของบประมาณจัดทำโครงการส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตสินค้าพืชสมุนไพร เพื่อขยายให้ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด หลังจากเปิดให้เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรมาขึ้นทะเบียนมีจำนวนถึง 2,866 ครัวเรือน ทางกรมได้เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาจนสามารถจัดตั้งเกษตรแปลงใหญ่สมุนไพรได้ 34 แปลง ใน 21 จังหวัด พื้นที่ 5,500 ไร่ มีสมาชิก 1,531 ราย ช่วยยกระดับการผลิต”

ด้านนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์คัดเลือกสหกรณ์เข้าโครงการส่งเสริมปลูกสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบผลิตยาสมุนไพรให้กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้มีความต้องการวัตถุดิบจำนวนมาก แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้

โดยจะเริ่มนำร่องจับคู่กับกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก หากผลเป็นที่น่าพอใจจะขยายไปปลูกสมุนไพรสำคัญตัวอื่น ๆ เช่น ขมิ้นและขิง เพื่อลดการนำเข้า และช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรและสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ

“การจับมือกับกระทรวงสาธารณสุขทำให้มีความชัดเจนทั้งด้านการผลิตที่มีคุณภาพและตลาดรองรับ โดยมูลค่าตลาดสมุนไทยมหาศาลมาก เพราะเทรนด์ของโลกมาแนวรักษาสุขภาพ กรณีการระบาดของโควิดครั้งนี้จะเห็นว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีบทบาทที่สำคัญมาก โครงการจะเริ่มประมาณต้นสิงหาคมนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะได้กล้าพันธุ์ดีที่กรมวิชาการเกษตรสนับสนุน 2 แสนกล้าให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการ” นางสาวมนัญญากล่าว