เอสเอ็มอี กระทุ้งรัฐอีกรอบ ขอพักต้นพักดอกผู้ประกอบการรายย่อย 6 เดือน

Thai baht banknotes and coins. Savings and investing concept

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และภาคีพันธมิตรเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย กว่า 24 องค์กร วอนรัฐฟังเสียงผู้ประกอบการรายย่อยก่อนตายทั้งระบบ ชง 6 ข้อเสนอทั้ง พักต้นพักดอก 6 เดือน ลดดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 4% เว้นการตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร พร้อมตั้งกองทุนอุ้ม SMEs ระยะยาว

วันที่ 22 กรกฎาคม 2564  นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธาน สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อจำนวนกว่า 1 หมื่นคน/วัน ทำให้รัฐบาลต้องประกาศให้มีการหยุดการประกอบกิจกรรมทางธุรกิจ และขอให้ภาคเอกชนทำงานจากที่บ้านอีกครั้ง ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้ผู้ประกอบการ mSMEs จำนวนมากมีรายได้ไม่แน่นอน และขาดรายได้อย่างยาวนาน

อีกทั้งสถานการณ์โรคระบาดยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดน้อยลง ประกอบกับมาตรการต่างๆ ของภาครัฐเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ mSMEs โดยตรงเป็นวงกว้างทั่วประเทศ

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และภาคีพันธมิตรเครือข่ายทั้ง 24 องค์กร มองว่าความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ mSMEs ไม่สามารถนิ่งเฉยต่อสภาพปัญหาหนี้สิน การเลิกจ้างพนักงาน การปิดกิจการ  การฟ้องร้องดำเนินคดี การถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดของผู้ประกอบการ mSMEs ได้ จึงได้ประชุมร่วมกัน และมีมติให้เสนอมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้

1.มาตรการพักต้น พักดอก ตลอดระยะเวลา 6 เดือน และไม่คิดดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาการพักต้น สำหรับกลุ่มลูกหนี้ mSMEs เดิม ทั้งที่ได้รับผลกระทบทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ให้เป็นหนี้เสียหรือ NPLs เพราะการแพร่ระบาดยังคงมีอย่างต่อเนื่องและไม่มีแนวโน้มที่จะยุติ ส่งผลต่อผู้ประกอบการ mSMEs อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2.มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับลูกหนี้ที่มีสินเชื่ออยู่ในระบบสถาบันการเงินผ่อนชำระดี ให้ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 4% จากเดิม  5% เป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับ mSMEs ที่มีสินเชื่ออยู่กับแหล่งเงินกู้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ( Non Bank ) เป็นลูกหนี้เดิมมีการผ่อนชำระดี ขอให้ลดอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการลงมากึ่งหนึ่งจนครบอายุสัญญา

3.มาตรการสินเชื่อ Soft Loan สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท พิจารณากำหนดวงเงินให้กู้จากกระแสเงินสดสุทธิจากบัญชีเงินฝากธนาคาร ไม่นำงบการเงิน มาเป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์การให้สินเชื่อเป็นระยะเวลา 2 ปี

4.มาตรการยกเว้นตรวจสอบข้อมูลเครดิตหรือเครดิตบูโร ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ย่อมมีผลกระทบที่ไม่ดีต่อข้อมูลเครดิตของผู้ประกอบการ mSME อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้ประกอบการ ดังนั้น จึงขอเสนอให้สถาบันการเงินไม่นำข้อมูลเครดิตหรือเครดิตบูโร ในช่วงการแพร่ระบาดมาพิจารณาการให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการ mSMEs เป็นระยะเวลา 2 ปี

5.มาตรการกองทุนพัฒนาวิสาหกิจ เพราะการที่มีกองทุนนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ mSMEs สามารถสร้างแต้มต่อให้ mSMEs ที่มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ แข่งขันได้มากขึ้น และมีระบบบ่มเพาะสร้างการเติบโตในอนาคต รวมทั้งทำให้ mSMEs เข้าสู่ระบบฐานภาษีเพิ่มขึ้น จึงขอให้ผลักดันกองทุนนี้ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว และเสนอให้มีคณะกรรมการบริหารที่ต้องให้สัดส่วนของภาคเอกชน เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน สื่อมวลชนที่สามารถมีส่วนร่วมได้ในทุกระดับ โดยให้มืออาชีพเข้ามาบริหารกองทุน รวมทั้งต้องจัดระบบผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาธุรกิจ mSMEs เพื่อเป็นพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ มีวินัยทางการเงิน บัญชี และเพิ่มขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง

6.กองทุนฟื้นฟู NPLs เพื่อการพัฒนา mSMEs ไทย จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2564 มีสินเชื่อทั้งหมด 17,376,812 ล้านบาท สินเชื่อชั้นปกติ 15,726,823 ล้านบาท สินเชื่อชั้นกล่าวถึงพิเศษ (ไฟเหลือง) 1,112,851 ล้านบาท สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 537,138 ล้านบาท แต่มีปัญหา mSMEs จำนวนมากที่ติดกับดักทางการเงินเป็น NPLs ปัจจุบันกว่า 241,734 ล้านบาท หรือ 7.34% ของวงเงินสินเชื่อ mSMEs ทั้งระบบ 3,292,457 ล้านบาท (ไตรมาส 1 ปี 2564 ธปท.) 

ซึ่งหากประเมินสถานการณ์กลุ่มสินเชื่อที่มีแนวโน้ม NPLs (ไฟเหลือง) จะพบว่ามีถึง 432,563 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.14 ของวงเงินสินเชื่อ mSMEs ทั้งระบบ โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ถึง 258,519 ล้านบาท (ไตรมาส 4 ปี 2562 ธปท.)

กองทุนนี้จะช่วยให้ mSMEs ที่เป็น NPLs จากผลกระทบโควิด-19 และก่อนหน้านี้ ได้รับการดูแล แก้ไข ปรับปรุงหนี้อย่างเป็นระบบ และสามารถถอดบทเรียน บ่มเพาะให้ mSMEs เหล่านี้กลับสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ และอยู่ในระบบฐานภาษีของรัฐ จึงขอให้ทางรัฐบาลเร่งดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟู NPLs เพื่อการพัฒนา mSMEs ไทย เป็นการด่วน

ซึ่ง สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และภาคีพันธมิตรเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า มาตรการดังกล่าวข้างต้น จะได้รับการตอบสนองและพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการ mSMEs อย่างเป็นรูปธรรม  เพื่อให้ทุกภาคส่วนผ่านพ้นสถานการณ์อันยากลำบากนี้ไปด้วยกัน