โรงงานเริ่มทำ Bubble and seal จี้ขอวัคซีนจากรัฐให้แรงงาน ม.33

ส.อ.ท. เตรียมแนวทางการป้องกันและรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 ในภาคอุตสาหกรรม เผยโรงงานขนาดใหญ่เริ่มทำ Bubble and seal ในสถานประกอบการ และการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแบบ Community Isolation ขอรัฐเร่งหาวัคซีนให้แรงงาน ม.33 ในเดือน ส.ค. อีก 1.5 ล้านโดส 

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  จากการร่วมหารือกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงกระทรวงแรงงาน  โดย ส.อ.ท.ได้ชี้แจงถึงความเดือดร้อนด้วยสถานการณ์ตอนนี้คือแรงงานภาคอุตสาหกรรม ม.33 เคว้ง มีอัตราการฉีดวัคซีนค่อนข้างต่ำเพียงแค่ 10% เท่านั้นเพราะไม่มีวัคซีนให้ฉีด ขณะที่กระทรวงแรงงานเองจะพยายามจัดสรรให้ภายในเดือน ส.ค. 2564 นี้ 8 แสนโดส แต่ยังคงไม่เพียงพอ จึงขอเพิ่มเป็น 1.5 ล้านโดส ขณะเดียวกันก็ได้หารือกับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ขอวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมอีก 

ทั้งนี้หลังจากที่ ส.อ.ท. ได้จัดตั้ง “คณะทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19” อย่างเร่งด่วนภายใต้มาตรการ “ป้องกัน รักษา เยียวยา” เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน สังคม สมาชิกและผู้ประกอบการไทยนั้น ส.อ.ท. ยังได้จัดเตรียมแนวทางการป้องกันและรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในภาคอุตสาหกรรม โดยจะเริ่ม 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.การจัดอบรมวิธีการใช้ชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน ATK อย่างถูกต้อง โดยให้ตรวจอย่างน้อย 20% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด

2.การจัดอบรมการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการด้วยการทำ Bubble and seal โดยไม่ต้องปิดโรงงานสำหรับสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ส่วนสถานประกอบการที่มีพนักงานน้อยกว่า 200 คน แนะนำให้ใช้มาตรฐาน Thai Stop Covid ของกระทรวงอุตสาหกรรม และ 3.การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการรูปแบบ Community Isolation รับรองโดยสาธารณสุขจังหวัดและดูแลโดยโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคม ซึ่งสถานประกอบการแต่ละแห่งจะต้องมี Heathy Leader อย่างน้อย 2 คน 

นอกจากนี้ จะมีการนำระบบแจ้งเตือนผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ (Exposure Notification Express: ENX) ที่พัฒนาขึ้นโดย Google และ Apple มาใช้เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดลดการติดเชื้อและการเสียชีวิต ซึ่ง ส.อ.ท. เสนอตัวเป็นผู้ดูแลระบบและประสานงาน โดยจะนำร่องเพื่อใช้งานในภาคอุตสาหกรรมก่อน