สรท.หวั่นโควิด-19 กระทบส่งออกครึ่งปีหลังเสียหาย 3 แสนล้านบาท

ส่งออก
แฟ้มภาพ

สรท.หวั่นการแพร่ระบาดโควิด-19 หากคุมไม่กระทบภาคการส่งออกจากนี้ 6 เดือนเสียหาย 2-3 แสนล้านบาท ส่งออกทั้งปี 7% ร้องให้รัฐเร่งจัดการ กระจายวัคซีน ควบคุมการแพร่ระบาดโดยเร็ว พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาขนส่งเพื่อการส่งออก

วันที่ 3 สิงหาคม 2564 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโต 10% โดยมีปัจจัยสนับสนุน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อาทิ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายตามปกติ ค่าเงินบาทอ่อนค่าใกล้เคียง 33 บาทต่อดอลลาสหรัฐ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องถึงระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจากแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐ

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออก สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศ ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด–19 ภายในประเทศยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่สามารถควบคุมและลดการแพร่ระบาดได้อาจจะกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะภาคการส่งออกซึ่งถือเครื่องจักรตัวสุดท้ายที่ยังขับเคลื่อน การติดเชื้อในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มแพร่กระจายมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อกำลังการผลิต และการส่งมอบสินค้า ทำให้การส่งออกเติบโตได้เพียง 10% จากที่คาดว่ามีโอกาสเติบโตได้ถึง 15% 

ประกอบกับมาตรการ Bubble & Seal ซึ่งโรงงานขนาด SMEs ส่วนใหญ่ อาจไม่สามารถดำเนินการได้และมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ขณะเดียวกันภาครัฐไม่สามารถอำนวยความสะดวกและสนับสนุนได้ทั้งหมด ปริมาณความต้องการตู้สินค้ายังไม่เข้าสู่ภาวะสมดุล ปริมาณการหมุนเวียนของตู้สินค้ายังไม่เพียงพอ ประกอบกับค่าระวางเรือยังคงปรับตัวอยู่ในทิศทางขาขึ้นในทุกเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางยุโรป และสหรัฐอเมริกา เนื่องด้วยปริมาณการขนส่งทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ขณะที่สายเรือใช้โอกาสเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มมากขึ้น อาทิ Peak Season Surcharge (PSS) ซึ่งแม้บางบริษัทยอมจ่ายอัตรา Premium แต่ก็ยังไม่ได้ตู้สินค้า รวมถึงผู้ส่งออกที่ได้รับการยืนยันตู้แล้วก็อาจถูกยกเลิกก่อนกำหนด ทำให้ผู้ส่งออกไทยไม่สามารถส่งออกได้ตามเป้า การบริหารจัดการภายในท่าเทียบเรือที่ขาดประสิทธิภาพ และปัญหาจากการล่าช้าของเรือ ทำให้ตู้สินค้าไม่สามารถหมุนเวียนในระบบได้ดีเพียงพอ แรงงานขาดแคลน ประกอบกับยังไม่สามารถจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้เพียงพอกับจำนวนแรงงานในภาคการผลิต ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น 

อย่างไรก็ดี สรท.มีข้อเสนอแนะและความเห็นที่ต้องการให้หน่วย คือ (1) สรท.ไม่เห็นด้วยกับมาตรการ Fully Lockdown โดยขอ “ยกเว้น” ให้ภาคการผลิตและกิจกรรมโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและนำเข้า อาทิ การปฏิบัติงานของท่าเรือ การขนส่งสินค้าเข้าสู่ท่าเรือ ยังสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง เพราะมีผลต่อสัญญาการค้าระหว่างประเทศ และหลายธุรกิจมีสัดส่วนการผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศ หากมีการหยุดประกอบการ จะส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศตามมาในที่สุด 

(2) สรท.เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งบริหารจัดการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนโดยเฉพาะแรงงานภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกให้เร็วที่สุด (3) สรท.เรียกร้องให้มีการปรับใช้มาตรการทางสาธารณสุขที่เป็นมาตรฐานเดียวจากส่วนกลางเพื่อให้สามารถดำเนินการเหมือนกันในแต่ละพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะกรณีโรงงานที่มีพนักงานอยู่ในกลุ่มเสี่ยง (4) สรท.เรียกร้องให้หน่วยงานราชการเร่งปรับปรุงการทำงานในการจัดการด้านเอกสารออนไลน์ (e-Document) และการขออนุญาต/ใบรับรองเพื่อการส่งออกนำเข้าผ่านระบบ National Single Window (NSW) เพื่อลดการสัมผัสจากการเข้าไปติดต่อราชการ

“ส่วนการส่งออกจากนี้ในไตรมาส 3 ยังมองว่าแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีไปถึงไตรมาส 4 แต่หากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะการควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มอุตสาหกรรม ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาหาร สิ่งทอ ชิ้นอิเล็กทรอนิกส์  ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น หากคุมไม่ได้แพร่ระบาดรุนแรงคาดจะกระทบภาคการผลิตเพื่อการส่งออกจะเสียหายต่อเดือน 1,000-1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ  ซึ่งปัจจุบันตอนนี้เจอปัญหาขาดแรงงาน แรงงานเข้ายังไม่ถึงวัคซีนจึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข 4 อุตสาหกรรมนี้ส่งออกรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ”

การส่งออกไทยจากนี้หากส่งออกได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 19,222 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปีจะโต 7% หาการส่งออกต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 20,380 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปีอยู่ที่ 10% และหากการส่งออกต่อเดือนจากนี้อยู่ที่ 22,309 ล้านเหรียญาสหรัฐ จะทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวอยู่ที่ 15% ทั้งนี้  ต้องมีปัจจัยอื่นสนับสนุนด้วยโดยเฉพาะเรื่องดูแลช่วยเหลือผู้ส่งออกในเรื่องของค่าระวางเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังพบว่ายังไม่เพียงพอต่อการส่งออก พร้อมกันนี้หาก 6 เดือนจากนี้ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหายังยืดจะส่งผลกระทบต่อภาพการส่งออก 2-3 แสนล้านบาท