เพชรบูรณ์โมเดล ต้นแบบจัดการ “ข้าวโพด” ทั้งระบบ

ในโอกาสที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะลงพื้นที่สหกรณ์การเกษตรหนองไผ่ (สาขาท่าแดง) จำกัด อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการไตรภาคีเพชรบูรณ์โมเดล ซึ่งเป็นการนำร่องใช้เชื่อมโยงระบบรับซื้อ “ข้าวโพด” เพื่อลดปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำ

ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติกรอบวงเงิน 1,500 ล้านบาทช่วยเหลือเกษตรกร โดยการชดเชยดอกเบี้ย 3% และคงใช้มาตรการกำหนดให้ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพด 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฤดูการผลิต 2560/2561 ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณ 4.43 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.55% จากปีการผลิต 2559/2560 ที่มีปริมาณ 4.32 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สำหรับผลิตอาหารสัตว์ที่คำนวณโดยสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ในปี 2560 ปริมาณ 8.10 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.58% จากปี 2559 ที่มีปริมาณ 7.82 ล้านตัน แนวโน้มราคา ณ ความชื้น 14.5% เฉลี่ย กก.ละ 7.30-7.35 บาท ขณะที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ราคาเฉลี่ย กก.ละ 7.95-8.00 บาท แต่ผลผลิตมักจะออกมากระจุกตัวจึงมีโอกาสทำให้ราคาตกต่ำ

กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ริเริ่มนำ “โมเดลไตรภาคี” มาใช้เมื่อต้นปี 2560 ควบคู่กับ “มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล” โดยมอบให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศรวบรวมข้อมูลตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ประกอบการที่รับซื้อสินค้าเกษตร และโรงงานอาหารสัตว์ทั้งหมด เพื่อทราบปริมาณความต้องการในการรับซื้อ จากนั้นจัดให้ทั้ง 3 กลุ่มเปิดโต๊ะลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันว่าจะรวบรวม รับซื้อสินค้าเกษตรในราคาที่เป็นธรรม ทั้งเกษตรกร-ผู้ประกอบการ-โรงงาน ภายใต้โมเดลไตรภาคี โดยนำร่องที่จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นจังหวัดแรก ภายใต้ชื่อ “ไตรภาคี เพชรบูรณ์โมเดล”

เหตุที่เลือก “เพชรบูรณ์” นำร่อง เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อันดับ 1 ของประเทศ มีพื้นที่ถึง 865,243 ไร่ หวังว่าการดำเนินการผลักดันโมเดลดังกล่าวจะช่วยรองรับผลผลิตข้าวโพดในฤดูการผลิตปี 2560/2561 ที่กำลังจะเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายนเป็นต้นมา ประมาณ 613,477 ตัน จากนั้นได้ขยายครอบคลุมถึงจังหวัดใกล้เคียงที่ปลูกข้าวโพด รวม 7 จังหวัด คือ พิษณุโลก นครสวรรค์ พิจิตร ลพบุรี สระบุรี ฯลฯ

รูปแบบการดำเนินโมเดลนี้จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงผลผลิตระหว่างเกษตรกร-ผู้ประกอบการรับซื้อ-ผู้ประกอบการโรงงานผลิตอาหารสัตว์ โดยเริ่มจากการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มเกษตรกรเป็นกลุ่มรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มีปริมาณมาก แล้วนำไปขายให้กับผู้ประกอบการรับซื้อ หรือลานรับซื้อต่าง ๆ ในระดับราคารับซื้อตามที่มีการตกลงกัน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับคุณภาพและความชื้น

หลังจากที่ดำเนินโครงการมาจนถึงขณะนี้มีกลุ่มเกษตรกรใน 7 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการไตรภาคี 12 กลุ่ม มีผู้รวบรวมรับซื้อ (คนกลาง) ที่เข้าร่วมโมเดล 10 ราย เช่น บุญคุณการเกษตร, บุญคุณพืชผล, สกต.พิษณุโลก, ลาน ส.ทรัพย์สมหมายธัญญกิจ เป็นต้น และผู้ใช้ปลายทาง ซึ่งผู้ประกอบการโรงงานอาหารสัตว์เข้าร่วมโครงการ 7 กลุ่ม เช่น กลุ่มเบทาโกร รับซื้อในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ และพิจิตร, บริษัทคาร์กิลล์สยามพิษณุโลก และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) สาขาพิษณุโลก รับซื้อผลผลิตจากพื้นที่ จ.พิษณุโลก นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโรงงานอาหารสัตว์ จ.นครสวรรค์ และกลุ่มพ่อค้าจาก จ.เพชรบูรณ์ ร่วมรับซื้ออีกด้วย โดยรวมมีปริมาณการรับซื้อ 524,288 ตัน ประมาณ 18.64% ของผลผลิตทั้ง 14 จังหวัดที่มีการเพาะปลูก

นอกจากโครงการไตรภาคีแล้ว กรมการค้าภายในยังได้จัดกิจกรรม “เจรจาจับคู่ธุรกิจ” นำร่องใน จ.เพชรบูรณ์และ จ.ชัยภูมิ เพื่อให้ผู้ใช้ปลายทางสามารถรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรงไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งขณะนี้มียอดการตกลงจับคู่ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบเมล็ดฝัก หรือรับซื้อเพื่อนำไปทำการขยายพันธุ์เมล็ดพันธุ์แล้วปริมาณ 7,000 ตัน ระหว่างสหกรณ์การเกษตร ใน จ.เพชรบูรณ์และ จ.ชัยภูมิ รวม 4 แห่ง ซึ่งซื้อในราคาเฉลี่ย กก.ละ 7.40 บาท และสัญญาระหว่างสหกรณ์บำเหน็จณรงค์ และสหกรณ์คอนสาร จ.ชัยภูมิ กับบริษัท มอนซานโต้ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งรับซื้อราคาเฉลี่ย กก.ละ 12 บาท เพื่อใช้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์

ผลจากการลงพื้นที่สะท้อนว่า “ระบบไตรภาคี” ช่วยให้เกิดระบบหมุนเวียนรับซื้อ สามารถรองรับผลผลิตข้าวโพดที่ออกมา ช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกในการค้าสินค้าเกษตรมากขึ้น ทำให้มีการผลักดันการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรในรูปแบบไตรภาคีในสินค้าอื่น เช่นโครงการ “มหาสารคามโมเดล” ที่เคยใช้กับสินค้ามันสำปะหลังไปก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังมีแผนจะส่งเสริมการเชื่อมโยงผลผลิตในสินค้าข้าว โดยเป้าหมายการเชื่อมโยงตลาดไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่กระทรวงพาณิชย์ยังได้หาลู่ทางที่เชื่อมโยงไปสู่ “ตลาดส่งออก” โดยมีการจัดคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปเจรจาขายสินค้าเกษตรในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เปิดตลาดมันอัดเม็ดที่ตุรกี หรือการจับคู่ซื้อสินค้าข้าว ทั้งหมดนี้ เพื่อเป้าหมายที่จะยกระดับรายได้เกษตรกรให้เกิดความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ยัังพบปัญหาเกษตรกรได้ราคารับซื้อต่ำไป ไม่เป็นตามมาตรฐานที่ตกลงกันไว้ เช่น ข้าวโพดได้ราคาต่ำกว่า กก.ละ 7 บาท จากข้อตกลงรับซื้อในราคา กก.ละ 8 บาท (ความชื้น 14.5%) เนื่องจากผู้ประกอบการรับซื้อจากเกษตรกรไปแล้ว และนำไปจำหน่ายให้กับโรงงานอาหารสัตว์ แต่กลับถูกลดคุณภาพ ขนาดของสินค้าลง ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากเกษตรกรยังขาดอุปกรณ์อบลดความชื้น และสถานที่จัดเก็บข้าวโพด (ไซโล) จึงทำให้ไม่สามารถเก็บรักษาข้าวโพดคุณภาพสูงได้ และมักถูกกดราคารับซื้อ ซึ่งรัฐบาลจึงต้องปรับปรุงแก้ไขในจุดนี้